xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเกาะมาร์แชลรวมตัวรำลึก 60 ปี มะกัน “ทดสอบระเบิด” อานุภาพร้ายแรงกว่าปรมาณูฮิโรชิมา “พันเท่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 (ภาพจากแฟ้ม) เกาะรองเกแลป ซึ่งเคยถูกพายุฝุ่นกัมมันตรังสีแผ่ปกคลุมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 1954 ภายหลังที่สหรัฐฯ ดำเนินการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนขนาด 15 เมกะตัน
เอเอฟพี – ชาวหมู่เกาะมาร์แชลร่วมกันรำลึกวาระครบรอบ 60 ปีนับตั้งแต่สหรัฐฯ ดำเนินการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนซึ่งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกาะปะการัง “บิกินี” วานนี้ (1 มี.ค.) ขณะที่ชาวบ้านที่ยังโกรธแค้นที่ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดก็ยังคงไม่กล้ากลับไป เนื่องจากเข็ดขยาดกับสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ

การทดสอบระเบิดไฮโดรเจนน้ำขนาด 15 เมกะตัน ที่สหรัฐฯ ใช้ชื่อว่า “บราโว” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 1954 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็นอันตึงเครียดนั้น เป็นการทดสอบที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเสียยิ่งกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นเป็นพันเท่า

การทดสอบระเบิดครั้งนี้ส่งผลให้ฝุ่นกัมมันตรังสีฟุ้งกกระจายไปทั่วเกาะแห่งหนึ่ง และทำให้ประชาชนหลายพันคนในพื้นที่โดยรอบต้องสัมผัสกับสารพิษเหล่านี้
(ภาพจากแฟ้มปี 1980) โดมขนาดใหญ่ถูกนำมาปิดพื้นที่แอ่งกระทะ ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ 43 ลูกบนเกาะรูนิท ของหมู่เกาะมาร์แชล ทั้งนี้คาดว่าฝุ่นกัมมันตรังสีที่ฟุ้งกระจายจากระเบิดอาจตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานถึง 25,000 ปี
ขณะที่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังคงถูกภาพความทรงจำอันน่าหวั่นผวาตามมาหลอกหลอน และคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่างมารวมตัวกันที่กรุงมาจูโร เมืองหลวงของหมู่เกาะมาร์แชล เพื่อเข้าร่วมงานรำลึกวาระครบรอบนั้น ผู้พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดจำนวนมากก็ยังปฏิเสธไม่ขอกลับไปอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ แม้ว่าสหรัฐฯ ได้ออกมารับประกันความปลอดภัยแล้วก็ตาม

“ฉันไม่ขอกลับไปที่นั่นอีก” เอเวลีน ราลโฟ-เจียดริก ชาวมาร์แชลวัย 33 ปีกล่าวถึงเกาะปะการังอันเป็นบ้านเกิดของเธอ ซึ่งถูกฝุ่นกัมมันตรังสีแผ่ปกคลุมจนต้องอพยพหนีตายภายหลังการทดสอบ 2 วัน

“ฉันไม่เชื่อว่าทุกอย่างปลอดภัยแล้ว และไม่อยากเอาลูกไปเสี่ยง”

เมื่อประชาชนเริ่มย้ายกลับไปที่เกาะรองเกแลปเมื่อปี 1957 ก็ต้องอพยพออกมาหนที่สองเมื่อปี 1985 ภายหลังที่เขาพบว่ายังมีกัมมันตรังสีตกค้างอยู่จริงอย่างที่เขากลัว

แม้ว่า รองเกแลป ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเกาะปะการังกว่า 60 แห่งของกลุ่มหมู่เกาะรูปวงแหวน จะผ่านการทำความสะอาดทุกซอกทุกมุม ภายหลังที่สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณ 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แต่ราลโฟ-เจียดริก ก็ยังไม่คิดจะหันหลังกลับไป

“ฉันคงจะเข็ดขยาดไปตลอดชีวิต พอสหรัฐฯ บอกแม่ฉันว่าเกาะอยู่ในสภาพปลอดภัยแล้ว พวกเขาก็กลับไปที่รองเกแลป แล้วก็ต้องเจอสารพิษปนเปื้อนอีก” เธอเล่า

ลานี คราเมอร์ สมาชิกสภาวัย 42 ปีซึ่งทำงานในรัฐบาลท้องถิ่นเกาะบิกินีกล่าวว่า ไม่ใช่เพียงบ้านเท่านั้นที่เราต้องเสียไป แต่เรายังสูญเสียวัฒนธรรมทั้งหมดของหมู่เกาะไปด้วย

เธอบอกว่า “การละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ทำให้เราสูญสิ้นมรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและภูมิปัญญาที่เราส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายพันปี”

ชาวหมู่เกาะบิกินีได้ละทิ้งบ้านเกิด นับตั้งแต่ที่พวกเขาได้รับคำสั่งให้อพยพออกมาเพื่อเปิดทางให้มีการทดสอบอาวุธในปี 1946 ซึ่งเป็นเวลาที่ปู่ย่าตายายของคราเมอร์ถูกอพยพออกมา

เมื่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า หมู่เกาะบิกินีมีสภาพปลอดภัยพอที่จะตั้งถิ่นฐานได้แล้ว ชาวบ้านบางส่วนก็ได้รับอนุญาตให้กลับไปอาศัยที่บ้านเกิดในช่วงต้นทศวรรษ 1970

แต่แล้วพวกเขาก็ถูกสั่งให้ย้ายออกจากพิ้นที่อีกครั้งเมื่อปี 1978 ภายหลังที่ชาวบ้านได้รับกัมมันตรังสีปริมาณเข้มข้นเข้าไป จากการกินพืชพรรณธัญญาหารที่เพาะปลูกในพื้นที่ทดสอบนิวเคลียร์

**ท้องฟ้าสีเลือด**

“พอเห็นพวกเขาได้รับสารพิษเข้าไป ฉันก็ไม่เชื่อในสิ่งที่สหรัฐฯ บอก (เกี่ยวกับเรื่องเกาะบิกินี) อีกแล้ว” คราเมอร์ ที่บอกว่าต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้กลุ่มคนรุ่นที่ถูกขับออกมาจากบ้านเกิดกล่าว

“เราต้องร้องเรียนกับรัฐสภาสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใคร ทั้งในรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางหารือกับรัฐสภาสหรัฐฯ ในประเด็นนี้เลย”

ทางด้าน สหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความเสียใจที่มีชาวเกาะได้รับกัมมันตรังสีในปริมาณสูงเข้าไป ในช่วงการทดสอบบราโว

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในกรุงมาจูโรระบุในเว็บไซต์ว่า “ขณะที่พวกนักวิทยาศาสตร์นานาชาติศึกษาผลกระทบของอุบัติเหตุ ที่มีต่อประชากรอย่างไม่คาดคิด สหรัฐฯ ไม่เคยมีเจตนาให้ชาวมาร์แชลได้รับบาดเจ็บจากการทดสอบ”

โรส กอตเตมือเลอร์ รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เดินทางมาเข้าร่วมพิธีการในวันที่รำลึกที่กรุงมาจูโรครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ในบรรดาผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีรำลึกซึ่งกินเวลาหนึ่งสัปดาห์ และมีการเดินขบวนพาเหรดเมื่อวันเสาร์ (1) คือ มาตาชิชิ โออิชิ วัย 80 ปี หนึ่งในชาวประมง 23 คนที่อยู่บนเรือ “ลัคกี ดรากอน” ของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งอยู่ห่างจากจุดทดสอบระเบิดไป 100 กิโลเมตร

เขาเล่าว่า “ผมยังจำแสงสว่างวาบทางทิศตะวันตก เสียงอึกทึกชวนอกสั่นขวัญแขวนที่ดังตามมา และท้องฟ้าที่เปลี่ยนเป็นสีแดงฉานได้ติดตา”

ภายหลังที่ลูกเรือทั้งหมดพากันล้มป่วยและเสียชีวิตลง ชะตากรรมของพวกเขาเป็นที่โจษจันไปทั่วญี่ปุ่น ซึ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหยื่อระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ
ภาพการทดสอบระเบิดปรมาณูบนเกาะปะการังรูปวงแหวนชื่อ “บิกีนี” ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1946
นอกจากนั้น กลุ่มนักศึกษาญี่ปุ่นที่เดินทางมาจากพื้นที่ประสบพิบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมะก็มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาด้วย

คาอิ ซาโตะ นักศึกษามหาวิทยาลัยฟูกูชิมะเผยว่า “รัฐบาล (ญี่ปุ่น) บอกเราว่า ‘ไม่ต้องเป็นห่วง’ (เรื่องสัมผัสกัมมันตรังสี) แต่เมื่อเร็วๆ นี้แพทย์วินิจฉัยว่า มีชาวบ้านในฟูกูชิมะจำนวนมากป่วยเป็นโรคไทรอยด์”

“ประชาชนไม่รู้ว่าควรจะเชื่อใคร”

ทั้งนี้ การทดสอบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่หมู่เกาะมาร์แชลได้ปิดฉากลงเมื่อปี 1958 ภายหลังทำการทดสอบไปทั้งสิ้น 67 ครั้ง

อย่างไรก็ดี รายงานขององค์การสหประชาชาติชี้ว่า ผลกระทบจากการทดสอบระเบิดตกค้างเป็นเวลานาน

คาลิน จอร์เจซู ผู้รายงานพิเศษระบุในรายงานที่ส่งถึง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า “สิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารพิษจนแทบฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเก่าไม่ได้” ได้สร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตและประชาชนจำนวนมากต้อง “พลัดถิ่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้สหรัฐฯ จ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ชาวหมู่เกาะมาร์แชล เพื่อยุติ “ความคลางใจที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุน”

ทั้งนี้ ศาลฟ้องร้องค่าเสียหายจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Claims Tribunal) ได้มอบเงินมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นค่าชดเชยสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และที่ดินซึ่งเสียหายจากการทดสอบนิวเคลียร์ แต่แล้วก็ระงับการให้ค่าใช้จ่ายไป หลังกองทุนค่าชดเชยมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ หมดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น