เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ผู้นำยูเครนและฝ่ายค้านเมื่อวันศุกร์ (21) ลงนามในข้อตกลงยุติวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราช เปิดทางสำหรับเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนดในปีนี้ หลังต้องเผชิญสัปดาห์แห่งการนองเลือด แค่ 3 วันคร่าชีวิตผู้ประท้วงเกือบ 100 ศพ และแปรเปลี่ยนใจกลางกรุงเคียฟเป็นเขตสงคราม
ประธานาธิบดี ยานูโควิช ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย ยื่นข้อเสนอประนีประนอมหลายๆ อย่างแก่ฝ่ายต่อต้านที่สนับสนุนยุโรป ในนั้นรวมไปถึงจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ และแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอำนาจของเขา เช่นเดียวกับการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนด
นายแฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่าในข้อตกลงดังกล่าวรวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติและจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ จากเดิมที่จะมีขึ้นในราวเดือนมีนาคม 2015 อย่างไรก็ตามกำหนดการใหม่นี้ยังไม่มีการระบุที่แน่ชัด
นายยานูโควิช และแกนนำฝ่ายค้าน 3 รายในนั้นรวมถึงนายวิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวตที่ผันตนเองสู่แวดวงการเมือง ได้ลงนามในข้อตกลงที่ทำเนียบประนาธิบดี ต่อหน้าเหล่าคณะทูตจากอียูที่ร่วมเป็นสักขีพยาน อย่างไรก็ตามการลงนามครั้งนี้ไม่มีตัวแทนของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เข้าร่วม มีเพียงป้ายชื่อของเขาเท่านั้นที่วางอยู่บนโต๊ะ
ข้อตกลงสันติภาพนี้ตรงตามความต้องการของพวกฝ่ายค้านที่เรียกร้องมาตั้งแต่เริ่มการประท้วง ได้แก่ นำสมดุลทางอำนาจทางการเมืองกลับสู่รัฐสภา ซึ่งเคยเป็นแบบนี้มาก่อนที่นายยานูโควิช เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2010
นอกจากนี้ยังจะมีการจัดตั้งคณะมนตรีที่มาจากฝ่ายค้าน ซึ่งมีอำนาจตีกลับตัดสินใจของนายยานูโควิช เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่เขายกเลิกข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์กับอียู อันเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการประท้วงนานหลายเดือนของยูเครน
อีกด้านหนึ่งในวันเดียวกัน รัฐบาลยูเครนก็ดำเนินการตามกรอบข้อตกลงทันที ด้วยการลงมติกลับคืนสู่รัฐธรรมนูญปี 2004 ซึ่งจำกัดอำนาจประธานาธิบดีและเปิดทางให้ ส.ส.มีสิทธิ์ แต่งตั้งรัฐมนตรีสำคัญๆ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับการสนับสนุนโดย ส.ส.386 เสียงจากทั้งหมด 450 เสียง ไม่นานหลังจากยานูโควิช และแกนนำฝ่ายค้าน ลงนามใข้อตกลงยุติวิกฤตที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน ขณะเดียวกัน ก็เห็นชอบนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขแก่ประชาชนทุกคนที่ถูกควบคุมตัวหรืออาจถูกดำเนินคดีในเหตุความสงบปัจจุบัน