xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลงหลังอุปสงค์สหรัฐฯ-จีนอ่อน ทองคำ-หุ้นอเมริกาปิดสวนทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ราคาเชื้อเพลิงวานนี้ (20 ก.พ.) ปิดลบในกรอบแคบ หลังสต๊อกน้ำมันกลั่นลดลงน้อยกว่าที่คาด และข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในจีน ปัจจัยหลังนี้ก็ฉุดให้ทองคำขยับลง ขณะที่วอลล์สตรีทดีดขึ้นจากตัวเลขการผลิตในอเมริกา

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 39 เซ็นต์ ปิดที่ 102.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 17 เซ็นต์ ปิดที่ 110.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

คลังน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่คาดหมายไว้ แต่ในส่วนของสต๊อกน้ำมันกลั่น ซึ่งประกอบด้วยดีเซลและน้ำมันทำความร้อน ลดลงเพียง 300,000 บาร์เรล จากที่คาดหมายไว้ว่าจะลดลงถึงกว่า 1.9 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาไปที่สต๊อกน้ำมันทำความร้อนเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาต้องเจอพายุฤดูหนาวและสภาพอากาศหนาวเหน็บปกคลุมหลายระลอก ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางของอุปสงค์ในช่วงนี้ได้อย่างดี

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของข้อมูลภาคการผลิตจีนที่พบว่าหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนกุมภาพันธ์

เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงแตะ 48.3 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 49.5 จุดในเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตของจีนหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

ข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนแอในจีน รื้อฟื้นความกังวลว่าเศรษฐกิจแดนมังกรกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจกระทบต่อการบริโภคทองคำ เป็นผลให้ราคาโลหะมีค่าชนิดนี้ในวันพฤหัสบดี (20) ปิดลบเล็กน้อย โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 3.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,316.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ วานนี้ (20) ขยับขึ้นพอสมควร จากข้อมูลภาคการผลิตของประเทศเบื้องต้น ซึ่งร้อนแรงที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี

ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 91.57 จุด (0.57 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16,132.13 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 10.95 จุด (0.60 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,839.70 จุด แนสแดคเพิ่มขึ้น 29.59 จุด (0.70 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,267.55 จุด

รายงานของมาร์กิต อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 56.7 จุด สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2010 จาก 53.7 จุดของเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต
กำลังโหลดความคิดเห็น