xs
xsm
sm
md
lg

Focus: “ซีเอ็นเอ็น” จับประเด็นประท้วงไล่รัฐบาล “ไทย-ยูเครน-เวเนซุเอลา” ในความต่างมีความเหมือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้ตีแผ่รายงานเปรียบเทียบสถานการณ์การประท้วงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, ยูเครน และเวเนซุเอลา โดยเหตุจลาจลทั้ง 3 กรณีแม้เกิดในต่างภูมิภาค แต่ก็สะท้อนถึงพลังมวลชนที่ต้องการขับไล่รัฐบาลที่พวกเขาไม่พอใจการทำงาน นำมาสู่การปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง มีการใช้แก๊สน้ำตา เผาทำลายทรัพย์สิน และเริ่มมีการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้น

ซีเอ็นเอ็น ได้เปรียบเทียบที่มาที่ไปของเหตุประท้วงทางการเมืองใน 3 ประเทศไว้ดังนี้

ไทย

ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร?

ผู้ประท้วงในกรุงเทพมหานครยื่นข้อเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยกล่าวหาว่าเธอเป็นเพียงหุ่นเชิดของพี่ชายอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกทหารปฏิวัติโค่นอำนาจไปเมื่อหลายปีก่อน

ผู้ชุมนุมเป็นใครกันบ้าง?

กระแสต่อต้าน ทักษิณ และยิ่งลักษณ์ รุนแรงเป็นพิเศษในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ และด้วยเหตุนี้การชุมนุมขับไล่รัฐบาลจึงต้องมีศูนย์กลางที่เมืองหลวงกรุงเทพมหานคร

การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นเมื่อใด?

ความพยายามของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม คือชนวนสำคัญที่ทำให้ประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยออกมาชุมนุมต่อต้านเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยพวกเขาเชื่อว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อเป็นใบเบิกทาง “ล้างผิด” ให้อดีตนายกฯ ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยอย่างขาวสะอาด

สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร?

เหตุรุนแรงครั้งใหม่ปะทุขึ้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครในเช้าวันอังคาร (18) เมื่อตำรวจพยายามขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมจนเกิดการปะทะกัน และมีผู้เสียชีวิตไป 4 ราย ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้แจ้งข้อหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่ามีส่วนปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการจำนำข้าว
กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร
ยูเครน

ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร?

ยุโรปกับรัสเซีย ฝ่ายใดมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน? นี่คือคำถามสำคัญซึ่งเป็นต้นเหตุของการประท้วงไล่รัฐบาลยูเครนในเวลานี้ ฝ่ายผู้ประท้วงนั้นต้องการให้รัฐบาลถอยห่างจากรัสเซียและหันไปทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป (อียู) ทว่าประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช กลับเลือกที่จะเข้าข้างอดีตนายเก่ายุคสหภาพโซเวียต

ปมปัญหาอีกอย่างก็คือเรื่องของ “อำนาจ” ฝ่ายค้านจำนวนมากเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ยานูโควิช ลาออกและจัดการเลือกตั้งใหม่ และยังมีความพยายามทั้งในและนอกสภาที่จะปรับโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เพราะผู้ประท้วงรู้สึกว่ากฎหมายยูเครนเวลานี้ให้อำนาจประธานาธิบดีมากกว่ารัฐสภา

ผู้ชุมนุมเป็นใครกันบ้าง?

แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเป็นหัวหอกในการกล่าวโทษประธานาธิบดี ยานูโควิช กับพวก และระดมมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาล

การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นเมื่อใด?

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ชาวยูเครนนับหมื่นคนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่ ยานูโควิช ตัดสินใจยกเลิกการทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปซึ่งใช้เวลาเจรจากันมานานหลายปี โดย ยานูโควิช ทำเช่นนั้นก็เพื่อเอาใจรัสเซีย

สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร?

กระแสความตึงเครียดที่คุกรุ่นมานานถึง 3 เดือนถึงจุดปะทุ เมื่อตำรวจใช้กำลังเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อยึดคืนพื้นที่จัตุรัสเอกราชกลางกรุงเคียฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 20 คนในช่วงเช้าวันพุธ (19)
กรุงเคียฟ ยูเครน
กรุงเคียฟ ยูเครน
เวเนซุเอลา

ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร?

ผู้ประท้วงชาวเวเนซุเอลาต้องการให้รัฐดูแลสวัสดิภาพของพลเมือง แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและสินค้าขาดแคลน รวมถึงรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

พวกเขากล่าวโทษรัฐบาลประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทางสังคมทั้งหมด ขณะที่ มาดูโร และคนในรัฐบาลก็อ้างว่าฝ่ายผู้ประท้วงนั่นเองที่บั่นทอนความมั่นคงและทำลายเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้ชุมนุมเป็นใครกันบ้าง?

ชาวเวเนซุเอลาที่ออกมาชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา แต่ก็มีนักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญออกมาเป็นแกนนำและร่วมเดินขบวนด้วย

การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นเมื่อใด?

เหตุชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเวเนซุเอลาเริ่มขึ้นในเดือนนี้ และกำลังเป็นที่จับตาจากทั่วโลก หลังจากมีผู้เสียชีวิตไป 3 รายในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์

สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร?

ขณะที่ผู้ประท้วงยังไม่มีทีท่าจะยอมแพ้ ลีโอโปลโด โลเปซ แกนนำผู้ชุมนุมได้เข้ามอบตัวต่อตำรวจแล้วเมื่อวานนี้ (18) พร้อมถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายและฆาตกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น โลเปซ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขณะที่ประธานาธิบดี มาดูโร ก็ปรามาสฝ่ายต่อต้านรัฐบาลว่าเป็นพวก “ฟาสซิสต์” และเป็นเสมือน “เชื้อโรคร้าย” ที่ต้องได้รับการรักษา
กรุงการากัส เวเนซุเอลา
ผู้ประท้วงชาวเวเนซุเอลา
กำลังโหลดความคิดเห็น