เอเอฟพี – นโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวราว 1.6% ในปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นสถิติดีที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากปี 2012 เพียงเล็กน้อย และสถิติในไตรมาสสุดท้ายซึ่ง “อ่อนแอกว่าที่คาด” ก็ทำให้หลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นเตรียมรัดเข็มขัดตอบรับมาตรการขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายนนี้
จากกระแสความกังวลเรื่องการขึ้นภาษีที่อาจกระทบต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ทำให้หลายฝ่ายคาดเดาว่า ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจถูกบีบให้ต้องออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัว
มาตรการผ่อนคลายทางการเงินถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจแบบ อาเบะ ซึ่งมุ่งหมายที่จะฟื้นสถานะของญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง
สถิติซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (17) ระบุว่า จากที่เคยเป็นผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มชะลอตัวลงมาในไตรมาสสุดท้าย โดยมีการเติบโตเพียง 0.3% น้อยกว่าตัวเลข 0.7% ที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้ ตามผลสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ธุรกิจนิกเกอิ
แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ซัดถล่มชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นและนำมาซึ่งวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 0.5% ในปี 2011 ก่อนจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง 1.4% ในปี 2012
ตั้งแต่ อาเบะ กวาดคะแนนเสียงเลือกตั้งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายปี 2012 นโยบายเศรษฐกิจของเขาก็ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงถึง 1 ใน 4 ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก ขณะที่ดัชนีหุ้นนิกเกอิของญี่ปุ่นพุ่งพรวด 57% ในปี 2013 ซึ่งนับเป็นสถิติที่ดีเยี่ยมที่สุดในรอบกว่า 40 ปี
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการปรับขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแม้จะเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นลง แต่ก็อาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว