เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ศูนย์วิจัยทางธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ (ซีอีบีอาร์) ซึ่งมีฐานในกรุงลอนดอน เผยรายงาน “World Economic League Table” ล่าสุด ซึ่งระบุว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ในปี ค.ศ.2028 ซึ่งจะส่งผลให้เมื่อถึงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจของแดนมังกรจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
รายงานดังกล่าวระบุว่า เมื่อถึงปี 2028 จีนจะก้าวขึ้นเป็นดินแดนที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่สหรัฐฯซึ่งครองตำแหน่งมายาวนานจะร่วงไปเป็นลำดับที่ 2 โดยคาดว่าเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจของจีนจะมีการเติบโตที่คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 33,513 (หน่วยเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ขณะที่สหรัฐฯจะอยู่ที่ระดับ 32,241 (หน่วยเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามมาด้วยอินเดีย ญี่ปุ่น บราซิล เยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย เม็กซิโก และแคนาดาใน 10 อันดับแรกของโลก
นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ฉุดรั้งให้จีนแซงหน้าสหรัฐฯได้ล่าช้ากว่าที่เคยมีการประเมินกันไว้เมื่อหลายปีก่อน เป็นเพราะการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระดับปัจจุบัน มิได้ร้อนแรงเหมือนกับเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา
แต่ถึงกระนั้นกำลังซื้อมหาศาลและแรงงานจำนวนมากของจีน รวมถึงการความแข็งแกร่งของค่าเงินหยวน จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแดนมังกรให้ก้าวแซงสหรัฐฯได้ในที่สุด แม้จะต้องใช้เวลานานกว่าที่หลายฝ่ายคิดไว้ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ในส่วนของญี่ปุ่นซึ่งรั้งตำแหน่งดินแดนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียและอันดับ 3 ของโลกมานานหลายปี มีแนวโน้มจะถูกอินเดียแซงหน้าในปี 2028 จากการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของอินเดียเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 6,560 (พันล้านดอลลาร์) ต่อ 6,415 (พันล้านดอลลาร์)
โดยนักวิเคราะห์ของสถาบันซีอีบีอาร์ระบุว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่ถูกขนานนามว่า “อาเบะโนมิกส์” อาจหมดฤทธิ์ในการฉุดรั้งเศรษฐกิจแดนปลาดิบในไม่ช้า และหากปราศจากนโยบายในลักษณะดังกล่าวแล้ว ก็แทบไม่มีโอกาสที่ญี่ปุ่นจะรอดพ้นจากการถูก อินเดีย แซงหน้า