เอพี – ทางการอัฟกานิสถานวานนี้ (13 ก.พ.) ได้เมินเฉยต่อท่าทีต่อต้านอันเกรี้ยวกราดของสหรัฐฯ ขณะปล่อยตัวนักโทษ 65 คนซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรงออกจากคุกที่เคยอยู่ในอำนาจควบคุมของสหรัฐฯ แม้จะมีเสียงเตือนว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มนักรบตอลิบานที่เหี้ยมโหด และนักโทษที่มีความเชี่ยวชาญในการทำระเบิดอาจย้อนกลับมาสังหารกองกำลังต่างชาติและชาวอัฟกันในภายหลัง
การปลดปล่อยนักโทษเหล่านี้ออกจากศูนย์กักกันปาร์วัน อาจสั่นคลอนสายสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ การที่ผู้นำอัฟกานิสถานผู้นี้เริ่มใช้ถ้อยคำต่อต้านสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังปฏิเสธไม่ร่วมลงนามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคี ที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากันมานาน ได้ทำให้เกิดบรรยากาศของความไม่มั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะมีการถอนกองกำลังนานาชาติส่วนใหญ่ออกจากอัฟกานิสถานก่อนสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ ออกมาแสดงความโกรธเคืองกับการตัดสินใจของคาร์ไซยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า สองชาติที่ทำทีเป็นพันธมิตรต่อกัน เกิดความไม่ไว้วางใจและเคืองแค้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความรู้สึกที่รุนแรงขึ้นได้แสดงออกมาให้เห็นทีละน้อยในช่วงที่ทั้งสองประเทศช่วงชิงอำนาจควบคุมเรือนจำใกล้ฐานทัพอากาศบากรัม ของกองทัพสหรัฐฯ ที่อยู่ห่างออกจากกรุงคาบูลไปทางเหนือราว 45 กิโลเมตร
คาร์ไซได้แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างดุเดือด ภายหลังที่สหรัฐฯ และนาโต วิพากษ์วิจารณ์การปล่อยตัวนักโทษชุดนี้อย่างรุนแรง โดยเขาชี้ว่ากระบวนการยุติธรรมของอัฟกานิสถานไม่ได้ขึ้นตรงต่อมหาอำนาจต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นวานนี้ (13) อาจเป็นท่าทีที่บ่งชี้ว่า คาร์ไซกำลังพยายามโน้มน้าวใจพวกกบฏตอลิบานให้เข้าร่วมเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ก่อนที่เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนี้ เนื่องจากเขาไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ได้
ทางด้าน อันเดอร์ส โฟกห์ รัสมุสเซน เลขาธิการใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ออกมาประณามการปล่อยตัวนักโทษกลุ่มนี้อย่างรุนแรง
สำหรับสหรัฐฯ การปล่อยตัวคนกลุ่มนี้ที่พวกเขาบอกว่าเป็น “พวกแบ่งแยกดินแดนผู้เหี้ยมโหด และมือเปื้อนเลือดชาวอัฟกัน” เป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่าคาร์ไซมีพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ และกระบวนการยุติธรรมในอัฟกานิสถานมีความอ่อนแอ โฆษกของกองทัพสหรัฐฯ ชี้ว่า นักโทษส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ถูกจับกุมภายหลังที่สหรัฐฯ ส่งมอบอำนาจควบคุมเรือนจำแห่งนี้ให้บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของอัฟกานิสถานเมื่อเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว ขณะที่มีการถ่ายโอนสำนวน เพื่อใช้ดำเนินคดีกับพวกเขาในศาลอัฟกานิสถานแล้วเช่นกัน
ทว่าสำหรับคาร์ไซ การมีเรือนจำที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของสหรัฐฯ บนผืนแผ่นดินอัฟกานิสถาน ดินแดนที่มีผู้ต้องขังอีกหลายร้อยคนถูกจับกุมโดยไม่มีการตั้งข้อหา ในฐานะนักรบฝ่ายศัตรูเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2002 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความยโสโอหังของสหรัฐฯ และเป็นการดูหมิ่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเขา
เมื่อวานนี้ (13) คาร์ไซ ผู้ออกคำสั่งให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง 65 คนเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ได้เน้นย้ำว่า คำสั่งที่ออกมาเป็นการตัดสินใจของฝ่ายตุลาการอัฟกานิสถาน ภายหลังที่มีการทบทวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ เชื่อกันว่าหนึ่งในบรรดานักโทษที่ได้รับอิสรภาพนั้นรวมถึง โมฮัมหมัด วาลี ผู้ที่กองทัพสหรัฐฯ สงสัยว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการประดิษฐ์ระเบิดของกลุ่มตอลิบาน ซึ่่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลอบวางระเบิดข้างถนนเพื่อสังหารกองกำลังอัฟกานิสถานและกองกำลังนานาชาติ และ เนก โมฮัมหมัด ซึ่งสหรัฐฯ รวบตัวได้พร้อมกับอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูง ตลอดจนชายอีกคนที่มีชื่อว่า เอห์ซอนุลเลาะห์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในการวางระเบิดข้างถนน