เอพี - สวนสัตว์โคเปนเฮเกนได้ฆ่าลูกยีราฟวัยอายุ 2 ขวบตัวหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์ในพวกเดียวกัน จากนั้นก็นำเนื้อของมันไปให้สิงโตกินต่อหน้าผู้มาเที่ยวสวนสัตว์ ขณะที่เพิกเฉยต่อคำร้องที่มีผู้คนเรือนหมื่นร่วมกันลงนาม ตลอดจนข้อเสนอขอซื้อต่อของสวนสัตว์แห่งอื่น และบุคคลที่ต้องการจะช่วยชีวิตเจ้าคอยาวตัวนี้เอาไว้
โทเบียส สเตนแบ็ก โบร โฆษกของสวนสัตว์แห่งนี้เปิดเผยว่า เจ้า “มาริอุส” ยีราฟตัวผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงถูกฆ่าแล้ววานนี้ (9 ก.พ.) ด้วยปืนยิงสลบ (Bolt pistol) ขณะที่สวนสัตว์ได้เชิญชวนบรรดาผู้มาเที่ยวชม ซึ่งรวมถึงเด็กๆ ให้มาดูการถลกหนังยีราฟ และโยนเนื้อมันให้พวกสิงโตกิน
ชะตากรรมของมาริอุสได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในโลกออนไลน์ ทั้งยังจุดประกายให้เกิดการโต้เถียงในเรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์ในสวนสัตว์ขึ้นอีกระลอก ทั้งนี้ ก่อนที่เจ้ายีราฟตัวนี้จะถูกฆ่า ได้มีการยื่นคำร้องขอไถ่ชีวิตในโลกออนไลน์ ซึ่งมีผู้มาร่วมลงนามมากกว่า 20,000 คน
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีคนจำนวนมากสนใจเข้าชมการนำเนื้อเจ้ามาริอุสให้สิงโตในสวนสัตว์โคเปนเฮเกนกิน โดย สเตนแบ็ก โบรกล่าวว่า สวนสัตว์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองตัดสินใจเองว่า ควรจะให้บุตรหลานดูการแสดงที่พวกเขาพิจารณาว่าเป็นการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสัตว์ที่สำคัญหรือไม่
เขาบอกว่า สวนสัตว์ซึ่งตอนนี้มียีราฟเหลืออยู่ 7 ตัวตัดสินใจฆ่ามาริอุส ตามคำแนะนำของสมาคมสวนสัตว์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำยุโรป (EAZA) เพราะพวกเขามียีราฟที่มีพันธุกรรมคล้ายกันในโครงการผสมพันธุ์ขององค์การนี้เป็นจำนวนมาก
เขาเปิดเผยว่า สวนสัตว์ได้ปฏิเสธข้อเสนอของสวนสัตว์อื่นๆ ที่ขอรับมาริอุสไปเลี้ยง ตลอดจนข้อเสนอของบุคคลที่ต้องการซื้อเจ้ายีราฟน้อยตัวนี้ในราคา 500,000 ยูโร (ราว 22 ล้านบาท)
เสตนแบ็ก โบรกล่าวว่า ข้อกำหนดสำคัญในการเป็นสมาชิกของ EAZA คือ สวนสัตว์ไม่ได้เป็นเจ้าของสัตว์เหล่านี้ แต่เป็นผู้คุ้มครองดูแล จึงไม่สามารถขายมันให้กับคนนอกองค์การที่ไม่ได้ยึดถือกฎกติกาเดียวกันได้
“ผมรู้ดีว่า ยีราฟเป็นสัตว์ที่ดูดี แต่ผมคิดว่าถ้ามันเป็นละมั่ง คนคงจะไม่โกรธแค้นถึงขนาดนี้ และผมคิดว่าคงไม่มีใครสนด้วยซ้ำถ้ามันเป็นหมูตัวหนึ่ง” เบงต์ โฮลสต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสวนสัตว์โคเปนเฮเกนชี้
ทั้งนี้ สวนสัตว์โคเปนเฮเกนไม่ได้ฉีดยาคุมกำเนิดหรือตอนสัตว์ เนื่องจากเกรงว่าวิธีการเหล่านี้จะมีผลข้างเคียงต่ออวัยวะภายในของสัตว์ นอกจากนี้สวนสัตว์ยังมองว่าการให้พ่อแม่ดูแลลูกของพวกมันเป็นสิ่งสำคัญ โฮลสต์กล่าว
ทางด้าน EAZA ระบุว่า องค์การสนับสนุนการตัดสินใจของสวนสัตว์ “ที่ฆ่าสัตว์ตัวนี้อย่างมีมนุษยธรรม และเชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการด้านพันธุกรรมและประชากรศาสตร์ในหมู่สัตว์ที่อยู่ในความดูแลของมนุษย์”
อย่างไรก็ตาม องค์กรสิทธิสัตว์สวีเดนชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นได้ตอกย้ำภาพที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นวิธีที่สวนสัตว์ใช้จัดการสัตว์เป็นประจำ
“การฆ่าสัตว์เมื่อสวนสัตว์ไม่มีพื้นที่มากพอไว้เลี้ยงมัน หรือเมื่อสัตว์เหล่านี้ไม่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่น่าสนใจมากพอ นั้นเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว” องค์การระบุในคำแถลง พร้อมทั้งเสริมว่า “ทางเดียวที่จะหยุดยั้งปัญหานี้ได้คือการเลิกไปเที่ยวสวนสัตว์”
ฝ่าย เอลิซา อัลเลน โฆษกขององค์การ “ประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม” (People for the Ethical Treatment of Animals) ในอังกฤษกล่าวว่า กรณีของมาริอุส ควรจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้ใครก็ตามที่ “วาดภาพว่าสวนสัตว์เป็นสถานที่ที่มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกจากมีไว้กักกันสัตว์ฉลาดๆ เพื่อกอบโกยผลกำไร” ได้ตาสว่าง