เอเอฟพี - “เฟซบุ๊ก” เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 10 ปี โดยที่บริษัทซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นเริ่มต้น “การปฏิวัติทางสังคม” และกลายเป็นกิจการเครือข่ายทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ กำลังก้าวอยู่บนเส้นทางซึ่งมีความสุกงอมมากขึ้น มีการปรับกลยุทธ์รองรับฐานผู้ใช้ที่มีวัยวุฒิสูงขึ้น ขณะเดียวกับที่สูญเสียยูสเซอร์วัยรุ่นไปเรื่อยๆ
เว็บไซต์เครือข่ายสังคมใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ ที่ถือกำเนิดขึ้นในหอพักมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของอเมริกาเมื่อปี 2004 สามารถสร้างปรากฏการณ์และกำลังยืนหยัดขึ้นเทียบรัศมีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งอื่นๆ
“เฟซบุ๊กทำให้โลกเล็กลงและติดต่อถึงกันมากขึ้น” ทริป ชาวด์รีย์ นักวิเคราะห์จากโกลบัล อิควิตี้ส์ รีเสิร์ชวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม เขาชี้ด้วยว่า “แม้เฟซบุ๊กเริ่มต้นการปฏิวัติทางสังคม แต่เฟซบุ๊กอาจไม่สามารถที่จะควบคุมพัฒนาการในเรื่องนี้ได้"
ปัจจุบัน เฟซบุ๊กกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เครือข่ายสังคมแห่งนี้อธิบายภารกิจของบริษัทว่า เป็น “การทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมต่อถึงกัน” ซึ่งบางคนบอกว่า ภารกิจดังกล่าวลุล่วงเป็นที่เรียบร้อย
ลู เคอร์เนอร์ ผู้ก่อตั้งกองทุนโซเชียล อินเทอร์เน็ต ฟันด์ชี้ว่า กว่า 20% ของเวลาที่ใช้บนอินเทอร์เน็ตถูกใช้ไปกับเฟซบุ๊ก
กระนั้น ในบางแง่มุม เฟซบุ๊กอาจเป็นเหยื่อความสำเร็จของตัวเอง
ฐานผู้ใช้เริ่มต้นของเฟซบุ๊กที่มีเพียงวัยรุ่นและนักศึกษามหาวิทยาลัย บัดนี้ขยายครอบคลุมผู้ใช้ในทุกกลุ่มอายุ โดยบริษัทเผยว่า มีผู้ใช้ที่ใช้งานประจำเดือนละ 1,230 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 945 ล้านรายที่ใช้เครือข่ายสังคมผ่านอุปกรณ์มือถือ
ทว่า นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า เฟซบุ๊กจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์สำหรับฐานผู้ใช้รุ่นใหญ่
ผลศึกษาผู้ใช้เฟซบุ๊กในอเมริกาที่จัดทำโดยไอสเตรทเทอจีแล็บส์พบว่า จำนวนผู้ใช้ในกลุ่มอายุ 13-17 ปีลดลงถึง 25% สวนทางกับกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไปที่เพิ่มขึ้นถึง 80%
ขณะที่ผลการศึกษาของบริษัทวิจัยโซเชียล เบเกอร์ระบุว่า ผู้ใช้กลุ่มอายุ 18-24 ปียังคงเป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ที่สุดของเฟซบุ๊ก
ส่วนข้อมูลของพิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ชี้ว่า เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายสังคมที่ 71% ของผู้ใหญ่ที่เล่นอินเทอร์เน็ตในอเมริกาใช้
พิวแจงว่า 89% ของผู้ใช้ออนไลน์ในกลุ่มอายุ 18-29 ปีใช้เฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับ 60% ของผู้ใช้ในกลุ่มอายุ 50-64 ปี และ 45% ของกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กเองก็เป็นบริษัทที่สุกงอมมากขึ้น แม้โชคร้ายประสบปัญหาทางเทคนิคในการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2012 และราคาหุ้นร่วงลงถึงครึ่งหนึ่ง แต่หนึ่งปีต่อมา ราคาหุ้นเฟซบุ๊กสามารถดีดกลับทำสถิติสูงสุดสำเร็จ
เฟซบุ๊กรับประกันกับนักลงทุนว่า จะสามารถสร้างรายได้จากโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนอุปกรณ์มือถือที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ และไม่นานมานี้ บริษัทรายงานว่า ผลกำไรตลอดทั้งปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์ จากแค่ 53 ล้านดอลลาร์ในปี 2012 และรายรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,870 ล้านดอลลาร์ จาก 5,100 ล้านดอลลาร์
จากข้อมูลของบริษัทวิจัย อีมาร์เกตเตอร์นั้น เฟซบุ๊กเป็นบริษัทที่กวาดรายได้จากโฆษณาดิจิตอลอันดับ 2 รองจากกูเกิล และมีรายได้เป็นกอบเป็นกำโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโฆษณาบนมือถือ
นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตยเลย์ เชียร์เฟซบุ๊กมากกว่าทวิตเตอร์ เนื่องจากเห็นว่า เฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์
มีนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า แรงดึงดูดของเฟซบุ๊กที่มีต่อกลุ่มวัยผู้ใหญ่นั้นเป็นส่วนสำคัญของการเติบโต รวมทั้งเป็นกุญแจในการสร้างรายได้และกำไรของเว็บไซต์แห่งนี้
"ผู้ลงโฆษณาลงเนื้อหาโปรโมชั่นบนเฟซบุ๊กด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นคือเพื่อสร้างยอดขาย” นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัย ทรีฟิส ระบุและขยายความว่า การซื้อสินค้าและบริการบนระบบออนไลน์ส่วนใหญ่คือจำนวนมากถึง 85% มาจากผู้ใช้อายุ 25 ปีขึ้นไป และด้วยตัวเลขนี้ทำให้การลดลงของกลุ่มผู้ใช้อายุ 13-24 ปี จึงไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด
เคอร์เนอร์ขานรับว่า เฟซบุ๊กไม่สามารถตั้งเป้าหมายที่ “ความเท่” เพียงอย่างเดียวตลอดไป
“สองสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่เท่ได้ดังใจคือ การปิดฉากถอยลงจากเวทีไป หรือไม่ก็จะต้องพัฒนาให้กลายเป็นบริษัทที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเฟซบุ๊กประสบความสำเร็จงดงามในแบบหลัง”