xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ฝ่ายค้านยูเครนลั่น “สู้ไม่ถอย” แม้นายกฯ ลาออก-รัฐสภาผ่านกม.นิรโทษกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี มืยโคลา อาซารอฟ แห่งยูเครน
สถานการณ์การเมืองในยูเครนยังคงพลิกผันและไร้วี่แววทางออก โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรี มืยโคลา อาซารอฟ ยอมสละเก้าอี้เพื่อบรรเทาความตึงเครียดจากการประท้วงขับไล่รัฐบาลที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือน พร้อมเพิกถอนกฎหมายต่อต้านการชุมนุมที่ถูกดันผ่านสภาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ขณะที่รัฐสภายูเครนก็ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม ทว่าท่าทีรอมชอมจากฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านที่ยืนยันว่า แค่เปลี่ยนรัฐบาลยังไม่พอ ต้อง “ปฏิรูป” กฎเกณฑ์การบริหารประเทศด้วย

การลาออกของ อาซารอฟ ซึ่งถือเป็นสัญญาณประนีประนอมอย่างชัดเจนจากฝ่ายประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช เรียกเสียงเชียร์กึกก้องจากชาวยูเครนหลายพันคนที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณจตุรัสเอกราชใจกลางกรุงเคียฟ ขณะที่หัวหน้าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยืนยันจะสู้ต่อจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

“ไม่เพียงเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์การบริหารด้วย” วิทาลีย์ คลิตช์โก อดีตนักมวยแชมป์โลกผู้ผันตัวลงสู่สนามการเมืองประกาศต่อผู้ชุมนุม

อาซารอฟ วัย 66 ปี ประกาศลาออกระหว่างการประชุมสภาสมัยวิสามัญเมื่อวันอังคาร(28) โดยชี้ว่าตนต้องการธำรงเอกภาพของชาติเอาไว้ ซึ่งประธานาธิบดี ยานูโควิช ก็รีบตอบรับในทันที โดยหลังจากนี้รองนายกรัฐมนตรี เซอร์เฮย์ อาบูซอฟ จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ ส่วนรัฐมนตรีที่เหลือก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ก่อนหน้านี้ ยานูโควิช พยายามที่จะคลี่คลายวิกฤตการชุมนุมโดยเสนอยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อาร์เซนี ยัตเซนยุค แกนนำคนสำคัญของฝ่ายค้าน แต่ปรากฏว่า ยัตเซนยุค และผู้นำฝ่ายต่อต้านอีกหลายคนปฏิเสธตำแหน่งที่รัฐบาลเสนอให้ เพราะเกรงจะเป็น “กลลวง” ที่ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อพวกเขา

อาซารอฟ สนับสนุนให้รัฐบาลยูเครนยกเลิกเจรจาข้อตกลงความร่วมมือการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวยูเครนจำนวนมากออกมาเดินขบวนแสดงความไม่พอใจ ก่อนสถานการณ์จะยกระดับจนกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลซึ่งผู้ประท้วงเห็นว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ และบริหารจัดการผิดพลาดมากมาย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยูเครนขู่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหากว่าผู้ชุมนุมยังไม่ถอนตัวออกอาคารสถานที่ราชการต่างๆ ทั่วประเทศ ทว่าต่อมา ยานูโควิช ก็กลับลำกะทันหัน และบีบให้รัฐสภายกเลิกบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการชุมนุมที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม หลังกฎหมายฉบับนี้เป็นเหตุให้ผู้ประท้วงลุกฮือปะทะกับตำรวจ จนมีคนเสียชีวิตไป 6 ศพ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำฝ่ายค้านยังคงเดินหน้ากดดันรัฐบาลต่อ โดยเรียกร้องให้ ยานูโควิช รีบลงนามในคำสั่งยกเลิกกฎหมายห้ามชุมนุมประท้วง ขณะที่ คลิตช์โก ชี้ว่า ส.ส.ฝ่ายค้านจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมบรรดานักโทษการเมือง และให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2004 ที่จำกัดอำนาจของประธานาธิบดี

วิกฤตการเมืองครั้งนี้ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวลึกระหว่างชาวยูเครนฝั่งตะวันออกที่พูดภาษารัสเซียและยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับ “อดีตนายเก่า” ยุคสหภาพโซเวียต กับประชาชนในฝั่งตะวันตกที่ฝักใฝ่และต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับสหภาพยุโรป
ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครน และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
อาซารอฟ อ้างว่า การยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือกับสหภาพยุโรปและหันมาฟื้นฟูสัมพันธ์กับรัสเซียแทนนั้นจะช่วยให้รัฐบาลยูเครนสามารถกู้ยืมเงินก้อนโตจากมอสโกมาแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้ ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัสเซียก็ส่งสัญญาณตอบรับไมตรีด้วยการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลยูเครนเป็นมูลค่าถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดราคาขายก๊าซให้แก่ยูเครนด้วย

อย่างไรก็ดี เหตุวุ่นวายทางการเมืองก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเมื่อวันอังคาร(28) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ได้ลดเครดิตของยูเครนลงเหลือเพียง CCC+ และชี้ว่าเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นทำให้โอกาสที่ยูเครนจะได้รับแพ็กเกจช่วยเหลือจากรัสเซียเริ่มไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาล วิกเตอร์ ยานูโควิช ที่ฝักใฝ่รัสเซียต้องมีอันถูกโค่น

สิ่งที่ S&P กังวลเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น เมื่อประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แสดงท่าทีลังเลต่อการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อยูเครน โดยเริ่มแรกนั้นได้ประกาศระหว่างการประชุมซัมมิตร่วมกับผู้นำสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ว่า มอสโกจะไม่ตัดสัมพันธ์หรือทบทวนการรับซื้อพันธบัตรมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากยูเครนอย่างแน่นอน แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม พร้อมกันนั้นก็เตือนให้มหาอำนาจตะวันตกอย่าก้าวก่ายความขัดแย้งภายในยูเครน ทว่าต่อมาภายหลังก็กลับคำพูด โดยชี้ว่าต้องรอดูโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนเสียก่อน จึงจะตัดสินใจเรื่องปล่อยกู้

ด้านประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็ได้เอ่ยถึงปัญหายูเครนระหว่างการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) เมื่อวันอังคาร(28) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยูเครนรับฟังความคิดเห็นของผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตย และย้ำว่า “ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีและอย่างสันติ ตลอดจนมีส่วนในการกำหนดอนาคตของประเทศ”

ล่าสุดในวันพุธ(29) รัฐสภายูเครนได้ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมต้องหยุดการปิดสถานที่ราชการต่างๆเสียก่อน ทว่าฝ่ายผู้ประท้วงก็ยืนยันว่าเงื่อนไขเช่นนี้รับไม่ได้ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ยานูโควิช ลาออกจากตำแหน่งเสียด้วย

ขณะที่สถานการณ์ในยูเครนยังคงไม่แน่นอนและต้องจับตามองกันชนิดวันต่อวัน อดีตประธานาธิบดี เลโอนิด คราฟชุค ซึ่งเป็นผู้นำคนแรกของยูเครนหลังแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ก็ได้ออกมาเตือนว่า ยูเครนกำลังเข้าใกล้ภาวะ “สงครามกลางเมือง” ยิ่งกว่าครั้งใดๆ และขอร้องให้รัฐสภากระทำการต่างๆ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มที่
ผู้ประท้วงชาวยูเครนที่ปักหลักอยู่บริเวณจัตุรัสเอกราชกลางกรุงเคียฟ
บรรยากาศการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่กรุงเคียฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น