เอเจนซีส์ - รัฐมนตรียุติธรรมยูเครนเตือนอาจประกาศภาวะฉุกเฉิน รวมถึงขอให้ประธานาธิบดียุติการเจรจากับฝ่ายค้าน หากผู้ประท้วงที่ยึดกระทรวงอยู่ไม่ยอมล่าถอยออกไป อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนรัฐบาลเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ขณะที่ผู้ประท้วงเข้มแข็งขึ้น คาด “ยานูโควิช” พลิกชูแนวทางประนีประนอมมากกว่าใช้กำลัง
การประท้วงในยูเครน ที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจากความไม่พอใจที่รัฐบาลยกเลิกการลงนามข้อตกลงกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปกะทันหันและหันไปพึ่งพิงรัสเซียแทน ลุกลามกลายเป็นการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ลาออก โดยมีการยกระดับการชุมนุมทั้งในแง่ขนาดและความรุนแรงหลังจากตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม 2 ครั้ง กระทั่งถึงปลายสัปดาห์ที่แล้วที่มีการปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ ซึ่งทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน หลังจากยานูโควิชผ่านกฎหมายซึ่งห้ามการชุมนุมประท้วงแทบทุกประเภท
ในวันจันทร์ (27 ม.ค.) สถานการณ์ในกรุงเคียฟยังคงตึงเครียด หลังจากผู้ประท้วงหัวรุนแรงจากกลุ่ม “สปิลนา สปราวา” หลายสิบคนเข้ายึดกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (26) ตอกย้ำว่า พวกผู้ประท้วงหลายส่วนโน้มเอียงมากขึ้นที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อผลักดันให้ยานูโควิชลาออก โดยขณะนี้ผู้ประท้วงได้เข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญ 4 แห่งกลางเมืองหลวงเคียฟ หนึ่งในจำนวนนี้คือศาลาว่าการนคร
ทางด้าน โอลีนา ลูคาช รัฐมนตรียุติธรรมแถลงทางทีวีว่า อาจต้องขอให้ประธานาธิบดียุติการเจรจากับฝ่ายค้าน รวมถึงขอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติประกาศสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน หากผู้ประท้วงไม่ออกจากกระทรวงทันที
สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์-ยูเครน รายงานว่า วิตาลี คลิตช์โก ผู้นำฝ่ายค้านและอดีตแชมป์มวยโลก ที่ร่วมเจรจากับยานูโควิช ได้เดินทางไปยังกระทรวงยุติธรรมและขอให้ผู้ประท้วงถอนออกมา ทว่า ไม่เป็นผล
ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (25) วิตาลี ซักคาร์เชนโก รัฐมนตรีมหาดไทย หนึ่งในรัฐมนตรีที่ผู้ประท้วงชิงชังที่สุด ได้เตือนว่า การยึดสถานที่ราชการจะถือเป็นการกระทำของกลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งทางการอาจใช้กำลังปราบปรามหากจำเป็น
ซักคาร์เชนโกยังอ้างว่า ผู้ประท้วงจับตำรวจสองคนไปทรมานก่อนปล่อยตัวออกมา ทว่า ฝ่ายค้านปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และโต้กลับว่า เป็นการสร้างเรื่องเพื่อสลายการชุมนุม
อย่างไรก็ดี แม้มีข่าวลือว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ดูเหมือนสมาชิกสำคัญพรรครีเจียนส์ ปาร์ตี้ ของยานูโควิช หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้
ขณะเดียวกัน ดูเหมือนรัฐบาลยูเครนอ่อนกำลังลงอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ประท้วงเข้ายึดสถานที่ราชการไม่เฉพาะในเมืองหลวง แต่ยังรวมถึงเมืองต่างๆ ในทุกภาค ไม่เว้นกระทั่งภาคตะวันออกและภาคกลางที่เป็นฐานเสียงของยานูโควิช โดยมีรายงานว่า ผู้ประท้วงเข้ายึดหรือพยายามเข้ายึดสถานที่ราชการระดับภูมิภาค 14 แห่งจาก 25 แห่งทั่วประเทศ
ภายใต้ความกดดันนี้ วันเสาร์ที่ผ่านมา ยานูโควิชได้เสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค หัวหน้าพรรคฟาเธอร์แลนด์ ปาร์ตี้ ซึ่งเป็น 1 ในผู้นำฝ่ายค้าน และตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีให้แก่คลิตช์โก หัวหน้าพรรคยูดาร์ รวมทั้งแสดงความพร้อมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของตนเอง และกลับไปใช้ระบบที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากขึ้น
ทว่า ฝ่ายค้านรู้ทันเกมสร้างภาพผู้นำประนีประนอมของยานูโควิช จึงไม่ตอบรับหรือปฏิเสธอย่างชัดเจน แต่ยืนยันว่า จะเจรจาต่อจนกว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดจะได้รับการตอบสนอง ซึ่งรวมถึงการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายในปีนี้ แทนที่จะเป็นปีหน้าตามกำหนด ตลอดจนการยกเลิกกฎหมายห้ามการประท้วง และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
หลายคนจับตาการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันอังคาร (28 ม.ค.) ซึ่งคาดกันว่าจะมีการอภิปรายและอาจผ่านข้อเสนอเปลี่ยนแปลงของยานูโควิช เนื่องจากเชื่อว่า จะเป็นวันชี้ชะตาการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วง
เยฟเกน กลิโบวิตสกี้ นักวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ยูเครนสกา ปราฟดา ชี้ว่า สัปดาห์นี้ยานูโควิชมีแนวโน้มใช้แนวทางการเจรจามากขึ้น เนื่องจากฐานอำนาจเริ่มอ่อนลงขณะที่ผู้ประท้วงกลับเข้มแข็งขึ้น
วันเดียวกับที่สภายูเครนนัดอภิปรายนี้เอง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับอียูที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งคาดว่า สถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนจะแย่งชิงความสนใจไปจากประเด็นหารือที่เตรียมการไว้ โดยทางมอสโกนั้นถือหางรัฐบาลยูเครน และประณามผู้ประท้วงหัวรุนแรง ขณะที่ฝ่ายตะวันตกกังวลกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจ โดยในวันจันทร์ อียูย้ำว่า การยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล เป็นเงื่อนไขแรกในการฟื้นความไว้วางใจกัน