เอเอฟพี - ที่อังกฤษ หงส์ป่าอาจได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่สวยงาม และสมเด็จพระราชินีนาถก็อาจมีรับสั่งให้สงวนสัตว์ชนิดนี้เอาไว้ ทว่ามลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ กลับประกาศสงครามกับหงส์ โดยกล่าวว่าพวกมันเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวง
แม้ว่าร่างข้อเสนอเพื่อฆ่าหรือเคลื่อนย้ายหงส์ขาว 2,200 ตัวออกจากรัฐนี้ให้หมดสิ้นภายในปี 2025 อาจได้รับการสนับสนุนจากนักอนุรักษ์บางส่วน แต่ก็ได้จุดประกายให้เหล่านักรณรงค์พิทักษ์สัตว์โกรธเคือง
ทั้งนี้ ชาวยุโรปที่อพยพย้ายถิ่นฐานได้นำหงส์ขาวเข้ามาในอเมริกาเหนือเพื่อสร้างความสวยงามให้แก่อาณาบริเวณที่พักอาศัย เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1800 แต่บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกลับไม่ได้มองว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นนักเดินทางพเนจรที่เลอค่าในด้านความงามอีกต่อไป
ฝ่ายกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนิวยอร์กชี้ว่า หงส์พวกนี้ทำร้ายคน สร้างความเสียหายแก่พืชผล และเป็นอันตรายต่อเครื่องบินไอพ่นโดยสาร ทั้งยังทำลายแหล่งน้ำเนื่องจากอุจจาระของพวกมันมีสารอีโคไล แบคทีเรียในกลุ่มโคลิฟอร์มอยู่
นับตั้งแต่ที่เที่ยวบิน 1549 ของสายการบินสหรัฐฯ พุ่งชนฝูงห่านเมื่อปี 2009 จนต้องลงจอดในแม่น้ำฮัดสัน กรมเกษตรของสหรัฐฯ ก็เริ่มกำจัดห่านแคนาดาเป็นประจำทุกปี
และในตอนนี้ กรมสิ่งแวดล้อมมลรัฐนิวยอร์กก็ต้องการขยายขอบเขตการกำจัดให้ครอบคลุมไปถึงหงส์ขาวเร่ร่อนภายในปี 2025 ด้วยการฆ่าพวกมันหรือเปิดโอกาสให้ผู้สนใจนำไปเลี้ยงและกักขังไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน
“วิธีการควบคุมขั้นรุนแรง มีดังเช่น การยิงหงส์เร่ร่อน การจับเป็น และการทำการุณยฆาตตามแนวปฏิบัติในการจัดการสัตว์ป่า” ร่างข้อเสนอฉบับนี้ระบุ
นอกจากนี้ ร่างข้อเสนอยังระบุด้วยว่า รังหงส์ก็จะถูกทำลายเช่นกัน และจะนำไข่ของพวกมันไปละลายในน้ำมัน เจาะให้แตก หรือผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อเพื่อไม่ให้ฟักออกมา
ทางด้าน กลุ่มกดดันอย่าง “กลุ่มพิทักษ์ห่านนิวยอร์ก” (Goose Watch NYC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการกำจัดห่านได้ออกมาเรียกร้องให้ล้มเลิกแผนการนี้
“การกำจัดหงส์ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในรัฐนี้มานานกว่า 150 ปี เกือบ 200 ปี เป็นการกระทำที่เหี้ยมโหดจริงๆ” เดวิด คารอปกิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวกล่าวกับเอเอฟพี
เขาปฏิเสธความคิดที่ว่าหงส์ 2,200 ตัวเป็นภัยคุกคามต่อชาวนิวยอร์ก 18 ล้านคน โดยตั้งข้อสังเกตว่า “ผมไม่เคยเห็นใครถูกหงส์ทำร้ายจนบาดเจ็บรุนแรงสักคน”
“เวลาหงส์แสดงพฤติกรรมดุร้าย มักจะเป็นเพราะต้องการปกป้องรังและลูกๆ ผมหมายถึงคนเราควรจะมีสามัญสำนึกว่าอะไรถูกอะไรควร”
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักอนุรักษ์บางส่วนที่สนับสนุนแผนการของรัฐฉบับนี้
พอล เคอร์ติส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จากภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยคอร์แนลกล่าวกับเอเอฟพีว่า การทำตามข้อเสนอนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสม และเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับข้อเสนอของรัฐอื่นๆ ด้วย
เขากล่าวว่า มีรายงาน 4 ฉบับระบุว่า หงส์เคยสร้างความชุลมุนวุ่นวายที่สนามบินเจเอฟเค พร้อมเสริมว่า หงส์อาจสร้างความรำคาญและความเสียหายแก่แหล่งอาหารได้
“เป้าหมายของแผนนี้คือควบคุมอัตราการเติบโตของประชากรหงส์ตามธรรมชาติ และเคลื่อนย้ายหงส์ออกจากพื้นที่ที่พวกมันสร้างปัญหาหรือทำลายชุมชนเกษตรกรรม” เขาเขียนในอีเมล
นอกจากนั้น กรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมลรัฐนิวยอร์กยังได้โต้แย้งพวกนักวิจารณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ โดยกล่าวผ่านเอเอฟพีว่า ข้อเสนอที่ระบุให้เคลื่อนย้ายหงส์ไปที่อื่น “มีความสมดุลและครอบคลุมกว่า” สิ่งที่คนจำนวนมากแนะนำให้ทำเสียอีก