เอเจนซีส์ - ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 112,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 ที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายเยนอ่อนแม้ส่งผลดีต่อภาคส่งออก แต่กลับถูกเบียดบังด้วยยอดนำเข้าน้ำมันและก๊าซมูลค่ามหาศาลเพื่อใช้แทนพลังงานนิวเคลียร์ ขณะเดียวกันโพลล่าสุดชี้ชาวอาทิตย์อุทัยเกือบ 3 ใน 4 ไม่รู้สึกว่า “อาเบะโนมิกส์” ทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง
กระทรวงการคลังญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันจันทร์ (27) ว่า ยอดขาดดุลการค้าของปี 2013 นี้ ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดนับจากเริ่มเก็บข้อมูลในปี 1979 เป็นต้นมา และเฉพาะเดือนธันวาคมเดือนเดียว ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าถึงเท่าตัว
ทั้งนี้ ยอดส่งออกในปี 2013 เพิ่มขึ้น 9.5% เป็น 680,900 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งโด่ง 15% อยู่ที่ 793,200 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อดุลการค้าของญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ การอ่อนตัวของเงินเยนเมื่อเทียบดอลลาร์จากนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งส่งผลทั้งด้านดีและด้านเสีย ผลดีคือบริษัทที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศทำกำไรเพิ่มขึ้น
แต่ในเวลาเดียวกัน เงินเยนที่ถูกลงก็ทำให้มูลค่ายอดนำเข้าพุ่งสูงลิ่ว โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน เนื่องจากแดนอาทิตย์อุทัยต้องสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมหาศาล หลังจากญี่ปุ่นต้องระงับการใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยภายหลังภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2011 ที่สร้างความเสียหายรุนแรงให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ทั้งนี้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เคยผลิตพลังงานรองรับความต้องการภายในญี่ปุ่นถึง 1 ใน 3
โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรียอมรับว่า การนำเข้าได้รับผลกระทบทั้งจากค่าเงินเยนและราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งอยู่ในระดับที่สูง
นอกจากการนำเข้าพลังงานแล้ว ในปัจจุบัน จากโครงสร้างด้านสายโซ่การผลิต (ซัปพลาย เชน) ผู้ผลิตแดนอาทิตย์อุทัยยังต้องพึ่งพิงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์อื่นจากต่างแดนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การฟื้นตัวในภาคส่งออกจึงไม่สามารถชดเชยต้นทุนเหล่านี้ ทว่าผู้บริโภคญี่ปุ่นกลับต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงและอาหารแพงขึ้นมาก
ทางด้าน แคปิตอล อิโคโนมิกส์ ในลอนดอนชี้ว่า มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามูลค่าการส่งออกเล็กน้อย นอกจากนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า การอ่อนค่าของเงินเยนจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าออกของญี่ปุ่นแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ส่งออกแดนอาทิตย์อุทัยยังคงลังเลที่จะลดราคา
เมื่อพิจารณาคู่ค้าเป็นรายประเทศแล้ว ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของตน เพิ่มขึ้นจากปี 2012 กว่า 43% เป็น 49,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 แต่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ 59,500 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2012 เกือบ 20%
ทาโร ไซโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอคาดว่า ญี่ปุ่นจะยังขาดดุลการค้าอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากตอนที่เยนอ่อนค่าอยู่ที่ราว 80 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงหลายปีมานี้ บริษัทมากมายของญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า ทำให้ผลประโยชน์จากเยนอ่อนที่ผู้ส่งออกพึงได้รับลดลง
กระนั้นก็ตาม พวกนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า โดยรวมแล้วต้องถือว่า อาเบะโนมิกส์เริ่มส่งผลให้เห็นตั้งแต่ครึ่งแรกของปีที่แล้วที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มจี7 ด้วยกัน และอัตราเงินเฟ้อเริ่มเข้าใกล้เป้าหมาย 2.0% ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ดังกล่าวดูเหมือนเป็นที่รับรู้เฉพาะในตลาดหุ้นเท่านั้น โดยผลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโด ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 73% จากทั้งหมด 1,421 คน ไม่รู้สึกว่า ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังของรัฐบาลที่ฉุดค่าเงินเยนและส่งตลาดหุ้นพุ่งขึ้น มีเพียง 25% เท่านั้นที่สังเกตว่า มาตรการนี้ส่งผลดี ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวไม่สมดุล และส่งผลน้อยมากต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เล่นหุ้น
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 66% ยังไม่คิดว่า พวกตนจะได้ขึ้นค่าแรง เทียบกับเพียง 28% ที่คิดว่า จะได้รับค่าแรงเพิ่ม ซ้ำร้ายกว่า 70% บอกว่ากำลังคิดที่จะลดการใช้จ่ายลงมา หลังจากรัฐบาลขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายนนี้