เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐไซปรัส ออกคำเตือนพลเมืองของตนหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย โดยระบุการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในไทยขณะนี้นั้นแม้ส่วนใหญ่จะมีศูนย์กลางอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่มีความเป็นไปได้ที่เหตุวุ่นวายทางการเมือง และความรุนแรงอาจลุกลามกระจายออกไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย ขณะที่ฟิลิปปินส์ประกาศห้ามพลเมืองของตนหนุนหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในไทย หวั่นได้รับอันตราย
คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศไซปรัส ซึ่งมีการเผยแพร่ที่กรุงนิโคเซียในวันพฤหัสบดี (23) ระบุว่า พลเมืองของไซปรัสซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทยควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง
ขณะที่พลเมืองไซปรัสที่มีแผนเดินทางมายังประเทศไทย ควร “หลีกเลี่ยง” การเดินทางมายังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยทางกระทรวงฯให้เหตุผลว่า แม้ศูนย์กลางของการประท้วงจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ความวุ่นวายและเหตุรุนแรงอาจขยายตัวลุกลามไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆของไทย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างจังหวัดภูเก็ตด้วย ซึ่งอาจทำให้ชาวไซปรัส “ไม่ปลอดภัย”
กระทรวงการต่างประเทศไซปรัสยังแนะนำให้พลเมืองของตนในประเทศไทยติดตามรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศและสื่อของไทย พร้อมทั้งขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศไซปรัสได้จัดตั้งสายด่วนที่หมายเลขโทรศัพท์ “+357 99660129” และ “+357 22801000” สำหรับเป็นช่องทางในการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินของชาวไซปรัสในไทย
ในอีกด้านหนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำกรุงเทพฯ ได้ออกคำเตือนที่ระบุว่า ห้ามชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือแสดงการสนับสนุนในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ต่อพรรคการเมืองหรือขั้วการเมืองต่างๆ ในไทย พร้อมทั้งขอให้พลเมืองแดนตากาล็อกหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก และจุดที่มีการประท้วงทางการเมือง หวั่นพลเมืองฟิลิปปินส์ไม่ได้รับความปลอดภัย
ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (23) ทางกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยขึ้นสู่ “ระดับที่ 2” พร้อมประกาศให้ชาวฟิลิปปินส์ในไทย เตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ในการ “อพยพ” ออกจากประเทศไทย และขอให้ชาวฟิลิปปินส์ในไทยติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางสถานทูตได้ที่เว็บไซต์ “bangkokpe.com” หรือที่หน้าเฟซบุ๊ก “facebook.com/bkkpe”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทั้งไซปรัสและฟิลิปปินส์มีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลรักษาการของไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ประกาศใช้ “พ.ร.ก. ฉุกเฉิน” นาน 60 วันในพื้นที่กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดโดยรอบ
ซึ่งในสายตาของชาวต่างประเทศแล้วเท่ากับเป็นการเปิดทางให้กองกำลังความมั่นคงที่ภักดีต่อรัฐบาล สามารถทำการจับกุมคุมขังบุคคลใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการตั้งข้อกล่าวหา รวมถึงมีอำนาจในการแทรกแซงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และใช้มาตรการที่จำเป็นจัดการต่อการชุมนุมทางการเมือง