เอเอฟพี - ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะดุเดือดระหว่างผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและกองกำลังความมั่นคงในกรุงเคียฟ เมื่อวันพุธ (22) ขยับเป็น 5 ราย ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น หลังฝ่ายค้านขู่เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรุกคืนบ้าง ส่วนทางอียูเตือนยูเครนเจอมาตรการตอบโต้ ด้วยไม่พอใจที่ผู้สนับสนุนยุโรปต้องมาสังเวยเลือดเนื้อ
เกิดเหตุปะทะกันอย่างดุเดือดใจกลางกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนเมื่อวันพุธ (22) โดยผู้ประท้วงขวางปาก้อนหินและระเบิดเพลิงเข้าใส่ตำรวจ ส่วนกองกำลังด้านความมั่นคงก็ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา ระเบิดแสง และกระสุนยาง ก่อนที่ในช่วงค่ำวันเดียวกัน ทางหน่วยการแพทย์ของกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายค้านบอกว่ามีนักเคลื่อนไหวของพวกเขาเสียชีวิต 5 ราย ในนั้น 4 คน พบร่องรอยบาดแผลจากกระสุนปืน อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ทางอัยการยังยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตแค่ 2 ศพ
ตามหลังเหตุความไม่สงบ ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ได้พบปะกับเหล่าแกนนำฝ่ายค้าน ในนั้นรวมถึง วิตาลี คลิทช์โก อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวต ในการประชุมที่ใช้เวลาพูดคุยกันนานหลายชั่วโมง และหลังจากนั้น คลิทช์โก ก็ได้ไปปราศรัยกับฝูงชนที่จัตุรัสอิสรภาพว่าผู้ประท้วงจะเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรุกบ้าง หากว่าประธาาธิบดียานูโควิช ไม่ยอมทำตามข้อเสนออย่างทันทีทันใด
“ถ้ายานูโควิชไม่ยอมทำตามข้อเสนอ พรุ่งนี้ (วันพฤหัสบดี) เราจะเป็นฝ่ายรุกคืนบ้าง” คลิทช์โก บอก พร้อมเตือนว่าประธานาธิบดีควรคลี่คลายสถานการณ์โดยปราศจากการนองเลือดด้วยการยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ พร้อมกันนั้นเขาเผยต่อว่าการเจรจากับ ยานูโควิช ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้บ่งชี้ว่าใกล้ฝ่าทางตันใดๆ ได้แล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งนายกรัฐมนตรีนายไมโคลา อาซารอฟ ของยูเครน กลับไม่แสดงสัญญาณแห่งการประนีประนอมใดๆ โดยตราหน้าผู้ประท้วงหัวรุนแรงอยู่เบื้องหลังการปะทะว่าเป็น “พวกก่อการร้าย” ก่อนจะเดินทางไปร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เหตุนองเลือดเมื่อวันพุธ (22) กลายเป็นจุดเดือดสูงสุดครั้งใหม่ในเหตุการณ์ความตึงเครียดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือน นับตั้งแต่มีการประท้วงขับไล่รัฐบาลที่ล้มเหลวลงนามในข้อตกลงประวัติศาสตร์กระชับความสัมพันธ์ของอียู เนื่องจากถูกกดดันจากรัสเซีย
ขณะเดียวกัน นายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ก็ออกมาเตือนยูเครน ถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกแก้เผ็ด ตามหลังการปราบปรามผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนอียู จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในวันพุธ (22) อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพาดพิงถึงมาตรการคว่ำบาตรใดๆ
“เราช็อกมาก และขอประณามด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวที่สุดต่อการใช้กำลังหรือความรุนแรงใดๆ” บาร์โรโซ กล่าวพร้อมชี้เจ้าหน้าที่ยูเครน ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อวิกฤตความรุนแรงนี้ “เราจะติดตามพัฒนาการของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการบางอย่าง รวมถึงผลลัพธ์จากการที่เราจะเข้าไปพัวพัน”
เมื่อถูกถามถึงรายละเอียดของมาตรการแก้เผ็ดที่จะเป็นไปได้ นายบาร์โรโซตอบว่ายังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจถึงแนวทางต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจาก 28 ชาติสมาชิกเสียก่อน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ แถลงว่าได้ถอนวีซาชาวยูเครนหลายคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงเมื่อปีที่แล้ว และในวันพุธ (22) พวกเขาบอกว่ากำลังพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมตอบโต้เหตุปะทะล่าสุด