เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สื่อต่างประเทศรายงานความไม่สงบที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้วิกฤตการเมืองไทยทำเงินไหลออกนอกประเทศไปแล้วเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 131,360 ล้านบาท) นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
สถานีโทรทัศน์ “อาร์ที” ของรัสเซียรายงานในวันเสาร์ (18) โดยระบุว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้หายออกไปจากระบบเศรษฐกิจของไทยแล้วเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 131,360 ล้านบาท) นับตั้งแต่ที่วิกฤตการเมืองรอบใหม่ของไทยเริ่มทวีความเข้มข้นในเดือนพฤศจิกายน และกำลังนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ชัตดาวน์” ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่เป็นบ้านของผู้คนมากกว่า 12 ล้านชีวิต
สื่อดังของแดนหมีขาวยังระบุว่า ไทยต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และวิกฤตการเมืองได้ส่งผลให้ไทยต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 6 คนนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำจากการเกิดรัฐประหารถึง 18 ครั้ง
ด้าน “บลูมเบิร์ก” สื่อดังของฝั่งอเมริกา รายงานในวันเสาร์ (18) เช่นกัน โดยอ้างว่าขณะนี้บรรดากองทุนระดับโลกได้ถอนการลงทุนออกจากไทยไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทั้งการลงทุนในรูปของพันธบัตรและหุ้น รวมถึงการเก็งกำไรใน “ค่าเงินบาท” ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินของไทยอ่อนลงไปแล้วกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา แต่หากนับรวมตลอดทั้งปี 2013 แล้วจะพบว่า ค่าเงินบาทไทยปรับลดลงไปแล้ว “มากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์”
ชิเงฮิสะ ชิโรกิ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าการลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แห่ง “ธนาคารมิซูโฮ” ในกรุงโตเกียวเตือนว่า ยิ่งภาวะความไม่สงบทางการเมืองในไทยยืดเยื้อยาวนานออกไปเท่าใด ความลังเลใจของนักลงทุนต่างชาติต่อการเข้ามาลงทุนในไทยก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนซื้อเงินบาทไปถือครองไว้ ที่อาจชะลอการตัดสินใจไปก่อน โดยการชะลอการตัดสินใจลงทุนดังกล่าวอาจกินเวลานาน จนถึงหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในไทย
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนคิดเป็นราว 7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทยอาจได้รับผลกระทบ หลังจากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มหดหาย รวมถึงนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดของไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งประกาศปรับลดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี 2014 ลงเหลือเพียง 3-3.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จีดีพีของไทยในปี 2013 ก็มีการเติบโตเพียง 2.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งที่เมื่อปี 2012 ตัวเลขจีดีพีไทยเคยเติบโตถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์