เอเจนซีส์ - กระแสการประท้วงในยูเครนวูบลงอย่างชัดเจนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลจากแกนนำไม่สามารถแก้ลำประธานาธิบดี วิกตอร์ ยานูโควิช ที่กลับจากมอสโกพร้อมข้อตกลงต่อลมหายใจเศรษฐกิจประเทศ รัฐบาลจึงกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบและเปลี่ยนเกมมาเป็นปล่อยให้ผู้ประท้วงหมดแรงไปเอง ขณะที่ฝ่ายค้านประกาศสู้ข้ามปี ยันการปฏิรูปเป็นทางเดียวในการล้างบางผู้นำ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า วันอาทิตย์ (22) ว่า มีผู้ชุมนุมในจัตุรัสเอกราช หรือที่เรียกในภาษายูเครนว่า จัตุรัส “ไมดาน” เพียง 40,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับการนัดชุมนุมใหญ่ในวันอาทิตย์ทุกครั้งก่อนหน้านี้นับจากวันที่ 24 พฤศจิกายนเป็นต้นมาที่สามารถดึงดูดผู้คนได้หลักแสน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพีระบุว่า มีฝูงชนเข้าร่วมการชุมนุมในวันอาทิตย์ (22) ราว 100,000 คน ซึ่งแม้น้อยกว่าในช่วงสุดสัปดาห์ก่อนๆ แต่ยังถือว่าเข้มแข็ง หากมองว่า การประท้วงล่วงเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้วท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บสุดขั้ว
การประท้วงระลอกนี้มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดี ยานูโควิช กลับลำไม่ยอมลงนามกรอบข้อตกลงสร้างสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปลายเดือนที่แล้ว หลังถูกกดดันจากรัสเซีย แล้วจากนั้นความไม่พอใจเรื่องนี้ของชาวยูเครนฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศเดินไปในทิศทางรวมตัวกับอียู ไม่ใช่รัสเซีย ก็ได้พัฒนากลายเป็นการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีและรัฐบาล
แม้ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์หลายคนคิดว่า มีโอกาสที่รัฐบาลจะพ่ายแพ้ต่อพลังประชาชนฝ่ายค้าน แต่เวลานี้กลับดูเหมือนฝ่ายต่อต้านออกอาการเพลี่ยงพล้ำ หลังจากที่ยานูโควิชบินไปลงนามข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียที่เครมลินต้นสัปดาห์ที่แล้ว
ระหว่างการหารือดังกล่าว ปูตินตกลงซื้อพันธบัตรยูเครนมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็เป็นวิธีช่วยยูเครนลดภาระเงินกู้ รวมทั้งยังลดราคาก๊าซที่ขายให้ลงถึง 1 ใน 3 ช่วยให้ยูเครนรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ และฟื้นค่าเงินสกุลฮริฟเนีย
ที่สำคัญข้อตกลงเหล่านี้ไม่ได้พ่วงเงื่อนไขใดๆ อย่างน้อยที่สุดก็ตามที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน อีกทั้งปูตินแถลงยืนยันว่า ไม่ได้หารือแม้แต่ชักชวนยูเครนเข้าร่วมสหภาพศุลากร
ทั้งนี้ หากยูเครนตกลงเข้าร่วมสหภาพดังกล่าว จะทำให้ผู้ประท้วงยิ่งโกรธเกรี้ยว เพราะเป็นการตัดสินใจเลือกรัสเซีย โดยที่ยูเครนยากนักหนักที่จะกลับไปหาอียูได้อีก
โวโลดิมีร์ เฟเซสโก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการเมือง เพนตา มองว่า การที่ได้สัญญาลดราคาก๊าซกลับมา ทำให้ผู้ประท้วงไม่สามารถประณามรัฐบาลได้อย่างถนัด ขณะเดียวกัน ต้องถือว่า รัฐบาลปัจจุบันเข้มแข็งกว่าเมื่อปี 2004 ซึ่งถูก “การปฏิวัติสีส้ม” บีบให้ประกาศให้การเลือกตั้งที่ยานูโควิชอ้างชัยชนะ เป็นโมฆะไป
นอกจากนั้น ในคราวนี้ยานูโควิชยังเปลี่ยนเกมจากไม้แข็งเป็นไม้อ่อน จากที่เคยพยายามสลายการชุมนุมด้วยกำลังหลายครั้งแต่ล้มเหลว ซ้ำถูกวิจารณ์จากในและนอกประเทศ มาเป็นการยอมปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปราบปรามผู้ประท้วง และล่าสุดคือ การเพิกเฉยปล่อยให้ผู้ประท้วงหมดแรงไปเอง
แม้การชุมนุมในวันอาทิตย์จบลงอย่างสงบเรียบร้อย แต่ผู้ประท้วงจำนวนมากซ่อนอาการผิดหวังไม่มิด
“การประท้วงมาถึงทางตันแล้ว ผู้ประท้วงทำทุกอย่างที่ทำได้แล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะเดินเกมอยู่เบื้องหลังเพื่อตัดกำลังรัฐบาล” ออสตาพ นิคิติน นักศึกษาในเคียฟบอก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวต และหนึ่งในผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ประกาศว่า จะสู้ต่อ และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมชุมนุมในช่วงปีใหม่และหลังจากนั้นจนกว่ายานูโควิชและรัฐบาลจะยอมลาออก
“รัฐบาลคิดว่าเราจะล้าและกลับบ้าน แต่การประท้วงของเราจะไม่มอดดับลง เพราะเราเข้าใจว่า การปฏิรูปเป็นวิธีเดียวในการเปลี่ยนแปลงผู้นำ” คลิตช์โกประกาศ
นอกจากนี้ อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุก หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของอดีตนายกรัฐมนตรีอูย์เลีย ทิโมเชนโก ซึ่งเวลานี้ถูกจองจำถูกในคุกด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น แสดงความหวังว่า จะสร้างกระแส “ไมดาน” ทั่วยูเครน รวมถึงที่มั่นของยานูโควิช ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ