xs
xsm
sm
md
lg

เฟดชะลอ QE ม.ค.เชื่อ ศก.รับไหว-ลากยาวนโยบายดอกเบี้ยใกล้ 0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เบน เบอร์นันกี
รอยเตอร์ – ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจยอมเสี่ยงครั้งสำคัญ มั่นใจเศรษฐกิจอเมริกาเข้มแข็งพอแล้ว ที่จะเริ่มชะลอมาตรการกระตุ้นด้วยการลดการซื้อพันธบัตร 10,000 ล้านดอลลาร์ เหลือเดือนละ 75,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป แต่ยังเชื่อว่า ควรคงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยใกล้ 0 เปอร์เซ็นต์ต่อไปอีกนานกว่าที่เคยประกาศไว้

ในการแถลงข่าวครั้งสุดท้ายในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันพุธ (18) ที่ผ่านมา เบน เบอร์นันกี ระบุว่า มีแนวโน้มว่า การปรับลดการซื้อพันธบัตรจะดำเนินการควบคู่กับการวัดผลว่า การจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นหรือไม่ตลอดช่วงหลายเดือนในปีหน้า ก่อนที่จะยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) แบบเบ็ดเสร็จช่วงปลายปี 2014

ความเคลื่อนไหวนี้ที่แม้ทำให้นักลงทุนบางส่วนประหลาดใจ แต่กลับไม่ได้ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วนเหมือนที่หลายคนกลัวนั้น เป็นการยืนยันแนวโน้มแง่บวกของภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดินแดนที่ได้ชื่อว่า มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการทดลองนโยบายการเงินครั้งใหญ่ที่สุด

เบอร์นันกีกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะยังฟื้นตัวไม่สมบูรณ์ แต่เฟดก็คาดหวังว่า ขั้นตอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมืองลุงแซมเริ่มที่จะบรรลุเป้าหมาย และนำไปสู่ช่วงเวลาการเติบโตที่ “เป็นปกติ” มากขึ้น

นายใหญ่เฟดวัย 60 ปี ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2006 ยังกล่าวเสริมว่า ตนปรึกษาหารือเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเจเน็ต เยลเลน รองประธานหญิงของเฟด ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาคุมเฟดแทนตนตั้งแต่วันที่ 31 มกราคมปีหน้า

นักลงทุนตอบรับคำประกาศนี้ว่า เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังจะดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นคึกคัก ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ต่างทำสถิติ “นิวไฮ” ทั้งคู่ ขณะที่ราคาพันธบัตรคลังสหรัฐฯขยับลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากได้รับการค้ำจุนจากคำสัญญาของเฟด ในการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกระยะ

แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า จะลดการซื้อพันธบัตรคลังและสินทรัพย์จำนองรายการละ 5,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป

ด้าน สก็อตต์ เคลมอนส์ ประธานนักกลยุทธ์การลงทุนของ “บราวน์ บราเธอร์ แฮร์ริแมน เวลธ์ แมเนจเมนท์” ตีความว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นการสื่อสารอย่างรอบคอบว่า เฟดจะยังคงให้การสนับสนุนต่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ การพิมพ์ธนบัตรพิเศษของเฟดช่วยดันตลาดหุ้นทำสถิติสูงสุด และยังทำให้เกิดการผันผวนในสกุลเงินต่างชาติ ซึ่งรวมถึงการทรุดลงของค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่เมื่อต้นปี เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเฟดจะยุติมาตรการผ่อนคลาย

15 เดือนก่อนหน้านี้ เฟดเริ่มมาตรการคิวอีรอบ 3 เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะถดถอยอย่างเชื่องช้า โดยคิวอีรอบแรกเริ่มต้นระหว่างวิกฤตการเงินปี 2008 ไล่เลี่ยกับการลดดอกเบี้ยลงใกล้ระดับ 0%

ขณะที่โครงการซื้อสินทรัพย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายในยุควิกฤต ทำให้เฟดถือครองตราสารคิดเป็นมูลค่าเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้ และสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ ลดการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ที่มีความเสี่ยงรออยู่มากมาย อาทิ ความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยจะพุ่งขึ้นเกินเป้าหมาย และสูญเสียความเชื่อมั่นจากบรรดานักลงทุน

เพื่อคลายความวิตกของนักลงทุน เฟดจึงประกาศว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยชั่วข้ามคืนที่เฉียด 0% ไว้ จนกว่าอัตราว่างงานจะลดต่ำกว่า 6.5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้า จากเดิมที่เคยให้คำมั่นว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยจนกว่าอัตราว่างงานจะลดเหลือ 6.5% โดยล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน อัตราว่างงานของสหรัฐฯ ขยับลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ที่ 0.7% ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% มาก

เบอร์นันกียังรับปากว่า หากเศรษฐกิจชะลอลง เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไป หรือกระทั่งลดดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายสำหรับทุนสำรองที่เกินกำหนด เพื่อกระตุ้นการกู้ยืม

นอกจากนี้ เฟดยังคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4 โดยคาดว่า อัตราว่างงานในสหรัฐฯจะลดลงมาอยู่ที่ 6.3-6.6% ช่วงปลายปีนี้ จากที่คาดไว้เดิม 6.4-6.8% และผู้วางนโยบาย 12 จาก 17 คนของเฟดเชื่อว่า น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกภายในปี 2015

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีผู้ไม่เห็นด้วยกับมาตรการซื้อพันธบัตร ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่เฟดบางคน เนื่องจากกังวลว่าแนวทางดังกล่าวจะผลักดันให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้น หรือเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ที่ยากต่อการตรวจพบ และจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาว

ทว่า ในทางกลับกัน ผู้สังเกตการณ์บางคนยกย่องว่า การซื้อพันธบัตรช่วยฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจ และระบบการธนาคารที่ซวนเซหนักจากวิกฤตการเงินในวอลล์สตรีทเมื่อปี 2008 รวมทั้งปรากฏการณ์ที่อาจนำไปสู่ “การเริ่มต้นของวงจรเงินฝืด” ที่เป็นอันตรายยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น