เอเอฟพี - หัวหน้าทีมเจรจาของอิหร่านให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เบลเยียมเมื่อวันอังคาร (17) ระบุเตหะรานจะกลับคืนสู่การเจรจากับชาติมหาอำนาจเกี่ยวกับโปรแกรมนิวเคลียร์ของพวกเขาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตามหลังพูดคุยกับประธานนโยบายต่างประเทศของอียู หลังจากก่อนหน้านี้ได้ประกาศล้มโต๊ะ ด้วยไม่พอใจที่ถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำเพิ่มเติม
อิหร่าน ประกาศล้มโต๊ะเจรจานิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (13) หลังวอชิงตัน ขึ้นบัญชีดำบริษัท และบุคคลที่หลบหลีกมาตรการคว่ำบาตรของพวกเขาเพิ่มเติม แม้ทั้งสองฝ่ายเพิ่งบรรลุข้อตกลงชั่วคราวในเจนีวา สำหรับให้อิหร่านระงับความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์แลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรบางอย่าง
อย่างไรก็ตาม ในวันอังคาร (17) นายอับบาส อารักชี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลของเบลเยียมว่านางแคทเธอรีน แอชตัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้คำรับประกันแก่เขาว่าชาติมหาอำนาจยังคงมีพันธสัญญาปฏิบัติตามข้อตกลงชั่วคราวดังกล่าว
“ตามพื้นฐานของคำชี้แจงเหล่านี้ เราจึงตัดสินใจคืนสู่โต๊ะเจรจาทางเทคนิคในเวียนนา” นายอาราชีกล่าว “สิ่งที่เรากำลังพยายามอยู่ในตอนนี้คือประสานงานหาวันเวลาสำหรับนัดหารือและเราจะเริ่มเจรจาในเวียนนาอีกครั้งเร็วๆ นี้ คำถามตอนนี้มีเพียงแค่ จะเป็นวันไหนเท่านั้น”
ภายใต้ข้อตกลง อิหร่านยินยอมระงับโครงการนิวเคลียร์ต้องสงสัยเป็นเวลา 6 เดือน แลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างที่เตหะรานและชาติมหาอำนาจหาทางบรรลุข้อตกลงในระยะยาว ขณะเดียวกันทางอเมริกาก็ยินยอมระงับการออกมาตรการคว่ำบาติรอบใหม่ต่ออิหร่านด้วย
กระนั้นก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วอชิงตันกลับเพิ่มเติมรายชื่อบริษัท และบุคคลอีกนับสิบเข้าไปในบัญชีดำฐานหลบหลีกมาตรการคว่ำบาตรของพวกเขา ที่กำหนดออกมาเพื่อกดดันเตหะรานให้ระงับโครงการนิวเคลียร์ที่ชาติตะวันตกมองว่าปิดบังการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ไว้ในฉากหลัง
แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ โต้แย้งว่าการขึ้นบัญชีดำเพิ่มเติม ดำเนินการตามกรอบมาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่ในปัจจุบันที่กดดันจนเตหะรานเข้าสู่โต๊ะเจรจาและไม่ได้เป็นมาตรการใหม่ใดๆ อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นชนวนสร้างความโกรธกริ้วแก่เตหะราน และเป็นผลให้อิหร่านถอนทีมเจรจาลุกออกจากโต๊ะหารือที่เวียนนา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อารักชี แสดงความขุ่นเคืองเป็นอย่างยิ่ง ด้วยบอกว่าความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ สวนทางกับเจตนารมณ์ของข้อตกลงซึ่งบรรลุที่เจนีวา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ชาติมหาอำนาจจะไม่มีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเป็นเป็นเวลา 6 เดือน