xs
xsm
sm
md
lg

‘สื่อมวลชนรัสเซีย’ เอนเอียงไปในทาง ‘เลวร้ายยิ่งขึ้น’

เผยแพร่:   โดย: สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Russia media takes a turn for the worse
By Inter Press Service
16/12/2013

รัสเซียกำลังจะสูญเสียองค์การข่าวที่ค่อนข้างทำหน้าที่ของตนตามเนื้อผ้าปราศจากอคติไปอีกสำนักหนึ่ง จากจำนวนซึ่งมีอยู่น้อยนิดเหลือเกินอยู่แล้ว เมื่อวังเครมลินเคลื่อนไหวเข้ามาควบคุมสื่อมวลชนของประเทศอย่างแน่นหนายิ่งขึ้นเรื่อยๆ และในขณะที่องค์การข่าวแห่งนี้ถูกปิดตัวลงไป บิ๊กบอสของสำนักข่าวระดับโลกแห่งใหม่ซึ่งจะถูกจัดตั้งขึ้นมาแทนที่นั้น ปรากฏว่าเป็นผู้ที่มีประวัติความเป็นมาในทางยกย่องสรรเสริญนโยบายเผด็จการเหี้ยมโหดแบบสตาลิน รวมทั้งเป็นคนที่ออกมาเรียกร้องให้นำเอาหัวใจของพวกรักร่วมเพศออกมาเผาทิ้งเมื่อคนเหล่านี้ตายไป

มอสโก – รัสเซียกำลังจะสูญเสียองค์การข่าวที่ค่อนข้างทำหน้าที่ของตนตามเนื้อผ้าปลอดอคติไปอีกสำนักหนึ่ง จากจำนวนซึ่งมีอยู่น้อยนิดเหลือเกินอยู่แล้ว เมื่อวังเครมลินเคลื่อนไหวเข้ามาควบคุมสื่อมวลชนของประเทศอย่างแน่นหนายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในความเคลื่อนไหวแบบกะทันหันไม่มีสัญญาณอะไรมาก่อนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกคำสั่งให้ปิดสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสตี (RIA Novosti news agency) แล้วก่อตั้งสำนักข่าวระดับโลกแห่งใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งจะใช้ชื่อว่า รอสเซีย เซกอดเนีย (Rossia Segodnya) และบริหารโดยบุคคลซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เชียร์รัฐบาลสุดฤทธิ์สุดเดชคนหนึ่งในวงการสื่อ

วังเครมลินแถลงว่า ที่ต้องตัดสินใจเช่นนี้เนื่องจากเหตุผลทางการเงิน ทว่าพวกนักวิจารณ์มองว่า พัฒนาการเช่นนี้หมายความว่า องค์การข่าวแห่งใหม่คงจะต้องกลายเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเท่านั้นเอง

ตาเตียนา โกโมโซวา (Tatiana Gomozova) นักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมืองซึ่งทำงานกับสถานีวิทยุเอฟเอ็ม “คอมเมียร์ซันต์” (Kommersant FM radio station) กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ว่า “มันก็เป็นเรื่องขององค์การข่าวอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสำนักงานโฆษณาชวนเชื่อ โดยที่ออฟฟิศและเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมดของอาร์ไอเอเวลานี้ ก็จะถูกนำไปใช้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อเสียแล้ว”

ถึงแม้ อาร์ไอเอ โนวอสตี มีฐานะเป็นกิจการของรัฐ แต่องค์การข่าวแห่งนี้ก็ถูกมองว่า เป็นผู้เสนอข่าวอย่างเป็นกลางตามเนื้อผ้ามากที่สุดรายหนึ่งของรัสเซีย ภายในบริบทของสภาพแวดล้อมซึ่งสื่อต่างๆ ถูกกำหนดให้ต้องทำตามระเบียบกฎเกณฑ์อันเข้มงวดมากมาย และส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาล

สถานีโทรทัศน์ในแดนหมีขาวนั้นแทบจะทุกแห่งทีเดียวถูกควบคุมโดยรัฐ ขณะที่พวกหนังสือพิมพ์ระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในกำมือของพวกเจ้าหน้าที่มีอำนาจในระดับท้องถิ่น โดยเหตุผลสำคัญเนื่องมาจากข้อผูกมัดทางการเงิน สำหรับหนังสือพิมพ์ระดับชาติ จัดว่ามีความเป็นอิสระอยู่บ้างบางระดับ และมีการรายงานข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนหนึ่ง

โยฮันน์ บีร์ (Johann Bihr) หัวหน้าสำนักงานยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ขององค์การนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวไอพีเอส ว่า “พวกหนังสือพิมพ์ระดับชาตินั้นถือว่ามีความแตกต่างออกไปนิดหน่อย ตรงที่ว่าพวกเขาออกจะพร้อมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่างน้อยที่สุดเรายังสามารถพบเห็นการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างในหนังสือพิมพ์ระดับชาติ และก็แน่นอนทีเดียว ในองค์การข่าวออนไลน์บางสำนักด้วย”

หากมองนักหนังสือพิมพ์เป็นรายบุคคล ในการปฏิบัติงานของพวกเขาก็ต้องประสบปัญหาจำนวนมากเช่นเดียวกัน ขณะที่ปัญหาหนึ่งในหมู่พวกนักหนังสือพิมพ์รัสเซียก็คือเรื่องของการเซนเซอร์ตัวเอง –ถึงแม้องค์การนักข่าวไร้พรมแดนบอกว่า พฤติการณ์เช่นนี้กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ นี้— แต่สำหรับนักหนังสือพิมพ์อิสระซึ่งกำลังทำงานเสนอรายงานข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงอย่างเช่นสิทธิมนุษยชน บ่อยครั้งก็อาจพบว่าพวกเขากำลังเผชิญกับการข่มขู่คุกคาม หรือกระทั่งสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสถาบันหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศ (International Press Institute หรือ IPI) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีนักหนังสือพิมพ์ 62 คนถูกสังหารไปในรัสเซียนับตั้งแต่ปี 1997 ทำให้แดนหมีขาวกลายเป็นประเทศที่มีนักข่าวเสียชีวิตสูงที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในรอบระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา IPI บอกว่าตัวเลขจริงๆ อาจจะสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ เนื่องจากในรัสเซียนั้น การเล่นงานนักหนังสือพิมพ์แล้วไม่ถูกลงโทษใดๆ ยังคงเป็นกฎเกณฑ์ที่ปรากฏอยู่ทั่วไป และคดีความประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วจะค้างคาโดยจับตัวลงโทษผู้กระทำผิดไม่ได้

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ IPI ก่อนหน้านี้ในปีนี้ เอเลนา มิลาชินา (Elena Milashina) ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวน (investigative reporter) ของ โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) อธิบายให้ฟังถึงปัญหาต่างๆ ที่นักหนังสือพิมพ์บางคนในรัสเซียเผชิญอยู่

เธอบอกว่า “ดิฉันคิดว่ามีระเบียบทางการเมืองหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองประเภทหนึ่งขึ้นมาในประเทศนี้ ตั้งแต่ตอนที่ ปูติน ขึ้นครองอำนาจเป็นครั้งแรกเลย เขาน่ะเป็นคนประเภทที่ประกาศทำสงครามกับสื่ออิสระนะ ... เมื่อการโจมตีเล่นงานนักหนังสือพิมพ์แบบนี้เกิดขึ้นมา นักหนังสือพิมพ์ก็ไปแจ้งความกับตำรวจ ทว่าตำรวจไม่อยากมาสืบสวนสอบสวนหรอก แต่เมื่อถึงคราวที่พวกเขาต้องสืบสวนสอบสวน เพราะเป็นคดีฆาตกรรม พวกเขาก็จะถ่วงเวลาทำคดีอย่างช้าๆ เนื่องจากไม่มีใครเลยที่จะคอยจี้คอยเร่ง การไม่ถูกลงโทษใดๆ กลายเป็นกฎขึ้นมาเสียแล้ว และพวกเขาก็เข้าใจดีว่าถ้าหากพวกเขาไม่สืบสวนสอบสวนคดี ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขาหรอก

“เบื้องหลังของพวกฆาตกร จะเป็นนักการเมืองระดับสูงในแทบจะทุกคดีทีเดียว พนักงานสืบสวนสอบสวนเข้าใจดีว่าถ้าพวกเขาพยายามสืบเสาะคุ้ยเขี่ยไปทั่วแล้ว พวกเขาเองจะเจอปัญหา เมื่อมีคนพยายามวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองนี้ –ไม่ใช่เพียงแค่นักหนังสือพิมพ์นะ พวกที่พยายามเรียกร้องปกป้องสิทธิมนุษยชนก็เจอเหมือนๆ กัน— ในระดับสูงนั้นพวกเขาพยายามแสดงเราให้เห็นว่า มันไม่ปลอดภัยนะที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างนั้น และพวกเขา (พวกนักการเมือง) ก็จะสามารถเอาตัวหลุดรอดไปได้ โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขาเลย”

สภาพที่พวกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจควบคุมสื่อแดนหมีขาวอย่างแน่นหนาเหลือเกิน ได้รับการตอกย้ำจากข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียอยู่อันดับที่ 148 ในดัชนีเสรีภาพหนังสือพิมพ์ (Freedom of the Press Index) ขององค์การนักข่าวไร้พรมแดน จากอันดับที่ได้นี้หมายความว่าอยู่ต่ำกว่าพวกประเทศอย่างเช่น ลิเบีย, แองโกลา, และอัฟกานิสถาน ด้วยซ้ำ

การแต่งตั้งบุคคลซึ่งเชียร์รัฐบาลอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชคนหนึ่ง ให้เข้ารับตำแหน่งสูงสุดในสำนักข่าวรอสเซีย เซกอดเนีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ย่อมเป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่มีการผ่อนคลายการควบคุมของรัฐ

ดมิตริ คิเซลยอฟ (Dmitri Kiselyov) เป็นผู้จัดทำรายการทีวีที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการโปรรัฐบาลและในเรื่องทัศนะแบบอนุรักษนิยมสุดขั้วของเขา ในอดีตที่ผ่านมาเขาเคยพูดยกย่องนโยบายเผด็จการโหดเหี้ยมแบบสตาลิน และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาเรียกร้องให้นำเอาหัวใจของพวกรักร่วมเพศออกมาเผาทิ้งเมื่อคนเหล่านี้สิ้นชีวิตลง

ระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ของรัฐช่อง “รัสเซีย 24” (Russia 24) เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเขาได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ คิเซลยอฟ ได้พูดสรุปถึงจุดมุ่งหมายของ รอสเซีย เซกอดเนีย ที่เขาอยากจะเห็น ว่า คือ “การฟื้นฟูให้มีการมองรัสเซียด้วยทัศนคติที่ยุติธรรม ซึ่งก็คือเป็นประเทศสำคัญประเทศหนึ่งในโลกที่มีเจตนาอันดีงามด้านต่างๆ นี่แหละคือภารกิจขององค์การข่าวแห่งใหม่นี้”

พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การที่คิเซลยอฟได้รับแต่งตั้งโดยตรงจากปูติน ให้เป็นบิ๊กบอสของสำนักข่าวแห่งใหม่นี้ ยิ่งเป็นสัญญาณอันน่าวิตกกังวลมากขึ้นไปอีกว่า ความตั้งใจของรัฐบาลต่อสื่อมวลชนในประเทศนี้นั้น อาจจะมีอะไรมากเกินกว่าเพียงแค่การล้มเลิกองค์การข่าวที่ค่อนข้างเสนอข่าวไปตามเนื้อผ้าไปสำนักหนึ่งเท่านั้น

ดังที่ โกโมโซวา กล่าวกับสำนักข่าวไอพีเอสว่า “เนื่องจากในรัสเซียนั้น สื่อมวลชนไม่ค่อยมีเสรีภาพอะไรนักหนาอยู่แล้ว ดังนั้น การสูญเสียอาร์ไอเอไป จึงไม่ได้หมายความว่าเราเสียอะไรมากมายเลย ทว่านี่เป็นสัญญาณที่แรงมากๆ ที่บอกกับพวกนักหนังสือพิมพ์ทั้งหลายว่า มาถึงตอนนี้ จะไม่มีใครอีกแล้วที่จะอยู่ได้อย่างปลอดภัย รัฐบาลไม่แยแสสนใจแม้กระทั่งสื่อที่ตนเองมีอยู่ พวกเขาไม่มีความเคารพแยแสสื่อที่มีเกียรติภูมิใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความเคารพแยแสทีมงานของสื่อ และไม่มีความเคารพแยแสผลงานของทีมงาน เมื่อพวกเขาต้องการทรัพยากร พวกเขาก็แค่เดินเข้ามาและคว้าเอาไปโดยไม่สนใจใยดีอะไรทั้งนั้น”

ขณะที่ บีร์ กล่าวเสริมว่า “การที่คิเซลยอฟได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิ๊กบอสขององค์การข่าวแห่งใหม่นี้ ต้องถือว่าเป็นลางร้ายสำหรับอนาคตข้างหน้าทีเดียว และจากข้อเท็จจริงที่ว่านายใหญ่ขององค์การข่าวแห่งนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี บอกอะไรเยอะแยะมากมายเกี่ยวกับนโยบายที่อาจเป็นไปได้ในอนาคตของสำนักข่าวแห่งนี้”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น