xs
xsm
sm
md
lg

สโลวีเนียมั่นใจไม่ง้อ “อียู” อุ้มภาคธนาคาร คาดใช้เงินมากกว่า 2 แสนล้าน กันแบงก์ล้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สโลวีเนีย อดีตดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดาวเศรษฐกิจ” แห่งรัฐคอมมิวนิสต์แถบยุโรปตะวันออก เผยข้อมูลล่าสุดซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธนาคารของประเทศอาจต้องการเงินช่วยเหลือระหว่าง 4,000-5,000 ล้านยูโร (ราว 176,965 ล้านบาท - 221,215 ล้านบาท) เพื่อช่วยประคับประคองสถาบันการเงินในประเทศให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หลังประสบวิกฤตหนักด้านสภาพคล่อง โดยรัฐบาลสโลวีเนียมั่นใจ ไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู)

รายงานข่าวซึ่งอ้างผลการประเมินเสถียรภาพของภาคธนาคารภายในประเทศ ระบุว่า สโลวีเนียซึ่งเข้าเป็นสมาชิกอียูเมื่อปี 2004 และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 17 ชาติที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลักเมื่อปี 2007 อาจต้องใช้เงินจำนวนดังกล่าว ในการอุดช่องโหว่ของภาคสถาบันการเงินในประเทศที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก หลังเศรษฐกิจของหนึ่งในดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีขนาดของเศรษฐกิจเล็กที่สุดในยูโรโซน ยังคงไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินที่ลุกลามไปทั่วโลกเมื่อปี 2008

อย่างไรก็ดี แม้ข้อมูลล่าสุดจะบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของสโลวีเนีย จะยังคงไม่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยจนกว่าจะถึงปี 2015 เป็นอย่างน้อย รัฐบาลสโลวีเนียภายใต้การนำของประธานาธิบดีโบรุต พาฮอร์และนายกรัฐมนตรีอเล็นกา บราตูเซ็คยังคงแสดงความมั่นใจว่า สโลวีเนียสามารถหาแหล่งเงินทุนภายในประเทศมาใช้ในการประคับประคองสถาบันการเงินของตนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยสมาชิกอื่นๆของกลุ่มยูโรโซนทั้งกรีซ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส และไซปรัสในการขอรับความช่วยเหลือจากอียู รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ด้านนายกรัฐมนตรีหญิงบราตูเซ็ค วัย 43 ปี ซึ่งก้าวขึ้นมาครองอำนาจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่ารัฐสภาสโลวีเนียได้ให้ความเห็นชอบต่อมาตรการเพิ่มทุนธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่งของประเทศแล้วคิดเป็นวงเงินรวมกันสูงถึง 4,700 ล้านยูโร (ราว 207,870 ล้านบาท)

ทั้งนี้ สโลวีเนียถือเป็นอดีตดินแดนเพียงแห่งเดียวในยูโกสลาเวียที่แยกตัวออกมาเป็นเอกราช โดยที่ไม่ต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมืองเช่นเดียวกับดินแดนอื่นๆในอดีตยูโกสลาเวีย โดยสโลวีเนียซึ่งเป็นบ้านของประชากรเพียง 2 ล้านคนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่ปี 1991-2007

แต่ผลของวิกฤตการเงินที่ลุกลามไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงปี 2008 ส่งผลให้เศรษฐกิจสโลวีเนียประสบปัญหา ขณะที่อัตราการว่างงานล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์


นายกรัฐมนตรีอเล็นกา บราตูเซ็คแห่งสโลวีเนีย
กำลังโหลดความคิดเห็น