เอเจนซีส์ - อ้างจากรายงานที่ตีพิพมพ์ในสื่อรัสเซีย Russia Todayในวันอาทิตย์ (8) พบว่าระดับกัมมันตภาพรังสีจากภายนอกที่อยู่บริเวณท่อเหล็กซึ่งเชื่อมกับตึกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้แตะค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ซึ่งค่าที่วัดได้ในวันศุกร์ (6) นั้นสามารถทำให้คนที่ได้รับการสัมผัสเสียชีวิตได้ภายใน 20 นาที
หลังจากการวัดระดับกัมมันตภาพรังสีจำนวนทั้งหมด 8 แห่งรอบท่ออากาศ บริษัทเทปโกได้ประเมินว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีสูงสุดนั้นถูกพบใน 2 จุด ที่มีค่ากัมมันตภาพรังสีสูงถึง 25 ซีเวิร์ต ต่อ ชม. และ 15 ซีเวิร์ต ต่อ ชม.ตามลำดับ
และสื่อ NHK ญี่ปุ่นได้รายงานว่า ค่ารังสีที่อ่านได้นั้นถือว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบมาจากภายนอกตึกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
โดยก่อนหน้านี้ทางเทปโกได้ตรวจพบระดับกัมมันตภาพรังสีอย่างน้อย 10 ซีเวิร์ตต่อ ชม. ซึ่งที่ผ่านมาท่ออากาศเคยใช้เป็นทางผ่านก๊าซกัมมันตภาพรังสี ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตินิวเคลียร์แล้วนั้นมีความเป็นได้ว่าอาจจะยังมีก๊าซกัมมันตภาพรังสีหลงเหลืออยู่ รายงานจากเทปโก
แผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม 2011 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าทำลายญี่ปุ่น ทำลายโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิจิ และทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 3 แห่งเกิดไหม้ขึ้นในชั้นใต้ดินในขณะน้ำที่เคยหล่อความเย็นระบบได้ซึมไหลออกมาและปนกับน้ำชั้นใต้ดินที่อยู่ตามธรรมชาติ และน้ำที่ปนเปื้อนที่ได้ถูกกักเก็บไว้ในถังกักเก็บของโรงงานนั้นรั่วและไหลลงมหาสมุทรแปซิฟิกไป
การรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนนี้สร้างความวิตกให้กับประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นเป็นอันมาก ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ได้ตรวจสอบปลาที่จับได้จากชายฝั่งของเกาหลีใต้ อ้างจากกระทรวงประมงแห่งเกาหลีใต้
ในขณะที่ แอลิสัน แม็กเฟอร์เลน ประธานแห่งคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์สหรัฐฯ หรือ U.S. Nuclear Regulatory Commission ได้ออกมาให้ความมั่นใจว่าน้ำปนเปื้อนของเทปโกเมื่อเดินทางมาถึงเขตชายฝั่งสหรัฐฯ นั้นจะอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
“ระดับสูงสุดของกัมมันตภาพรังสีที่จะมาถึงสหรัฐฯ นั้นมีค่าลดลง 100 เท่าตัว (2 orders of magnitude) ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยของน้ำดื่ม” แม็กเฟอร์เลนกล่าวที่กรุงโตเกียวในวันศุกร์ (6) ที่ผ่านมาในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก “ถ้าคุณสามาถดื่มน้ำเค็ม ซึ่งในความเป็นจริงคุณไม่สามารถดื่มได้ มันมีความปนเปื้อนต่ำมาก”
ในขณะนี้มีน้ำปนเปื้อนจำนวนราว 400 ตัน เกิดขึ้นทุกวันที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ในการที่จะแก้ปัญหาการกักเก็บน้ำปนเปื้อนนั้น หน่วยงาน IEAE ได้ให้ข้อเสนอในวันพุธ (4) ว่า ควรจะทิ้งน้ำปนเปื้อนลงไปในมหาสมุทรหลังจากที่ลดระดับการปนเปื้อนแล้ว
“ในวิกฤตที่มีน้ำปนเปื้อนเกิดขึ้นมากทุกวัน ทางเทปโกควรจะหาหลายๆ ทางเลือกเพื่อการจัดการต่อไปในอนาคต รวมถึงความน่าจะเป็นที่จะทิ้งน้ำปนเปื้อนที่ถูกควบคุมระดับการปนเปื้อนลงในมหาสมุทรภายใต้การจำกัดจำนวนตามที่ได้รับอนุญาต” อ้างจากแถลงการณ์ของ IEAE
ที่ผ่านมาเทปโกได้ใช้ทดสอบกระบวนการทันสมัยที่เรียกว่า ALPS ในการแยกสารปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีออกจากน้ำยกเว้นตริเตียมที่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับสารกัมมันตภาพรังสีอื่น เช่น สตรอนเซียม และซีเซียม ซึ่งพบเช่นกันในน้ำปนเปื้อนจากโรงงานไฟฟ้าฟูกุชิมะ