xs
xsm
sm
md
lg

บุคคลสำคัญทั่วโลกค้อมคารวะ “เนลสัน แมนเดลา” วีรบุรุษต้านเหยียดผิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ข่าวการจากไปของอดีตประธานาธิบดีและวีรบุรุษนักต่อต้านลัทธิเหยียดผิวแห่งแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา นำความเศร้าสะเทือนใจมาสู่ผู้คนทั่วโลก โดยผู้นำประเทศและบุคคลสำคัญหลากหลายแวดวงต่างกล่าวถ้อยคำไว้อาลัยต่อบุรุษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเสรีชนแห่งทวีปแอฟริกา

รัฐบุรุษ, นักเคลื่อนไหวต่อต้านความอยุติธรรม, เจ้าของรางวัลโนเบล และนักโทษผู้ปลุกจิตสำนึกได้จากโลกนี้ไปแล้วมากต่อมาก แต่ไม่มีผู้ใดเลยที่จะได้รับการกล่าวขานยกย่องจากประชาคมโลกเป็นหนึ่งเดียว ดังที่ แมนเดลา กำลังได้รับในเวลานี้

“ท่านไม่ได้เป็นของเราอีกต่อไป แต่จะเป็นวีรบุรุษของผู้คนทุกยุคสมัย” ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เอ่ยถึงแมนเดลา โดยเลือกใช้ถ้อยคำที่คล้ายกับคำสดุดีอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น แห่งอเมริกา ผู้ปลดปล่อยฝูงชนจากความเป็นทาส

ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า การที่ แมนเดลา ได้รับอิสรภาพหลังตกเป็นนักโทษการเมืองอยู่นานถึง 27 ปี คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาก้าวสู่เส้นทางการเมืองสหรัฐฯ

“เราอาจไม่ได้เห็นบุคคลเช่น เนลสัน แมนเดลา อีกต่อไป” โอบามา กล่าว

โอบามา สั่งให้มีการลดธงครึ่งเสาที่ทำเนียบขาวและสถานที่ราชการทุกแห่งไปจนถึงวันจันทร์หน้า(9) ซึ่งเป็นการไว้อาลัยอย่างสูงต่อผู้นำต่างชาติที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
เนลสัน แมนเดลา ซึ่งถูกจำคุกอยู่นานถึง 27 ปี ชูกำปั้นแสดงชัยชนะ หลังได้รับอิสรภาพในปี 1990
เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ประกาศให้ แมนเดลา เป็น “ยักษ์ใหญ่แห่งความยุติธรรม” ที่สร้างแรงบันดาลใจต่อคนทั่วโลกโดยการ “ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี, ความเท่าเทียม และเสรีภาพของมนุษย์อย่างไร้ความเห็นแก่ตัว”

นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ก็รู้สึกสะเทือนใจไม่น้อยต่อการอำลาโลกของ เนลสัน แมนเดลา และถึงกับกล่าวว่า “แสงไฟอันสว่างจ้าของโลกได้ดับหายไปแล้ว”

เมื่อปี 2006 คาเมรอน ได้กล่าวขออภัยที่พรรคอนุรักษ์นิยมของเขาเคยทำ “ผิดพลาด” เกี่ยวกับการตอบสนองนโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษ

นายกรัฐมนตรี ฌอง-มาร์ก เอโรต์ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนจีนอย่างเป็นทางการ มีถ้อยแถลงว่า แมนเดลา คือ “บุคคลพิเศษ” ที่จะสร้างแรงบันดาลใจต่อมวลมนุษยชาติไปอีกนานแสนนาน”

อดีตประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ซึ่งเคยเชิญ แมนเดลา ไปยังทำเนียบขาวหลังจากที่เขาได้รับอิสรภาพในปี 1990 กล่าวว่า “บาร์บารา (ภริยาบุช) และผม ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ แมนเดลา บุรุษผู้ศรัทธามั่นในเสรีภาพ ซึ่งเราสองคนโชคดีเหลือเกินที่ได้มีโอกาสรู้จักท่าน”

“ในฐานะประธานาธิบดีเวลานั้น ผมรู้สึกทึ่งในตัว เนลสัน แมนเดลา ที่เขาสามารถให้อภัยไม่คิดแค้นต่อบุคคลที่สั่งจำคุกเขา”

ด้านอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ ก็ได้โพสต์รูปถ่ายของตนกับ แมนเดลา ลงในทวิตเตอร์ และเขียนกำกับว่า “วันนี้โลกได้สูญเสียผู้นำคนสำคัญที่สุด และมนุษย์ที่ดีเลิศที่สุดคนหนึ่งไป”
ประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ และ เนลสัน แมนเดลา ในปี 1990
ความอาลัยอาวรณ์ยังปรากฏชัดเจนในประเทศแถบแอฟริกา และภูมิภาคอื่นๆ ของโลกที่เคยผ่านยุคสมัยของการเป็นอาณานิคม โดยประธานาธิบดี กู๊ดลัค โจนาธาน แห่งไนจีเรีย ยกให้ แมนเดลา เป็น “ผู้ปลดปล่อยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของมนุษยชาติ” ส่วนประธานาธิบดี เอ็นริเก เปนญา เนียโต แห่งเม็กซิโก ก็แถลงว่า “มนุษยชาติได้สูญเสียบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อสันติภาพ, เสรีภาพ และความเท่าเทียมอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยไปแล้ว”

นักธุรกิจ, ผู้นำศาสนา, หัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ, นักคิด, นักเขียน, ศิลปิน, นักกีฬา และนักเคลื่อนไหว ต่างร่วมไว้อาลัยการจากไปของ เนลสัน แมนเดลา อย่างพร้อมเพรียงกัน

บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งทำโครงการรณรงค์ต่อสู้โรคระบาดในทวีปแอฟริกา เอ่ยถึง แมนเดลา ว่า “ทุกครั้งที่ เมลินดา (ภรรยา) และผมได้พบกับ แมนเดลา เราจะกลับออกมาด้วยหัวใจที่อิ่มเอม ความสง่างามและความกล้าหาญของท่านทำให้โลกนี้เปลี่ยนไป วันนี้ช่างเป็นวันที่เศร้านัก”

แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1993 ร่วมกับประธานาธิบดี เอฟ. ดับเบิลยู. เดอ เคลอร์ก ผู้นำคนสุดท้ายของแอฟริกาใต้ในยุคแบ่งแยกสีผิว เนื่องจากทั้งคู่ได้ร่วมต่อสู้จนทำให้แอฟริกาใต้ก้าวข้ามยุคแห่งการปกครองโดยชนผิวขาวกลุ่มน้อย มาสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

หลังจาก แมนเดลา พ้นตำแหน่งประธานาธิบดีแอฟริกาใต้แล้ว เขายังคงมีอิทธิพลอย่างสูงและเป็นแบบอย่างสำหรับนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังๆ ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางสังคม
เนลสัน แมนเดลา ขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับประธานาธิบดี เอฟ.ดับเบิลยู. เดอ เคลอร์ก แห่งแอฟริกาใต้ ในปี 1993
องค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต ได้มีจดหมายไปยังครอบครัวของแมนเดลา ในวันนี้(6) โดยมีใจความสำคัญว่า พระองค์จะทรงรำลึกถึง “สหายรัก” เนลสัน แมนเดลา ซึ่งทรงนับถือว่าเป็น “บุรุษผู้มีความกล้าหาญ มีหลักการ และความซื่อสัตย์”

ถ้อยแถลงในเว็บไซต์ขององค์ทะไลลามะ ระบุว่า “การไว้อาลัยที่ดีที่สุดที่เราทั้งหลายจะมอบแด่ เนลสัน แมนเดลา ได้ ก็คือการสร้างความสามัคคีในหมู่มวลมนุษย์ ส่งเสริมสันติภาพและการปรองดอง เหมือนที่ แมนเดลา ได้กระทำมา”

แมนเดลา ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหลังจากองค์ทะไลลามะ 4 ปี และทั้งสองเคยพบกันครั้งสุดท้ายที่นครโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อปี 2004

อองซานซูจี วีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวพม่า ก็ได้ร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของอดีตผู้นำแอฟริกาใต้ด้วย โดยระบุว่า แมนเดลา เป็น “มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่” ที่สร้างแรงบันดาลใจต่อผู้อื่นในการเปลี่ยนแปลงโลกนี้

“ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของชายซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมในโลก... ท่านทำให้เราเข้าใจว่า ไม่มีใครสมควรถูกลงโทษเพียงเพราะสีผิวหรือสิ่งที่ติดตัวพวกเขามาแต่กำเนิด ท่านยังทำให้เราเข้าใจด้วยว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองของเราเอง และด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงขอไว้อาลัยต่อ เนลสัน แมนเดลา ในฐานะมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ยกมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ขึ้น”

ทั้ง แมนเดลา และอองซานซูจี ต่างเคยสูญเสียอิสรภาพนานนับสิบๆ ปี เพราะยืนหยัดต่อต้านระบอบเผด็จการกดขี่ในประเทศของตนเอง และได้รับยกย่องว่าเป็นสองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของโลก
อดีตราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็คสัน สวมกอดประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ระหว่างทั้งสองพบกันชั่วครู่ที่จังหวัด ควาซูลู-นาตาล เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1996
มหาเศรษฐี บิล เกตส์ ให้การต้อนรับประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ ในการประชุม Global Health Forum ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน นครซีแอตเติล เมื่อปี 1999
อดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ และ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ร่วมกันชู คบเพลิงแห่งความหวัง ที่หน้าเรือนจำบนเกาะร็อบเบน ซึ่งเคยเป็นสถานที่คุมขัง แมนเดลา อยู่นานถึง 27 ปี (ภาพปี 2001)
เนลสัน แมนเดลา และองค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต
มิเชล โอบามา และบุตรสาว 2 คน เข้าพบอดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ที่้บ้านพัก เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2011
กำลังโหลดความคิดเห็น