เอเจนซีส์ – เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ครองแชมป์ประเทศที่มีการคอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก ขณะที่อัฟกานิสถาน, เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย ติดอันดับดินแดนที่มีการทุจริตโกงกินกันมากที่สุด ส่วนไทยภาพลักษณ์ยังคงย่ำแย่ ตกจากอันดับที่ 88 ลงมาอยู่ที่ 102 ในปีนี้ รายงานจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบุ
ผลการศึกษาโดย Transparency International ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในกรุงเบอร์ลินพบว่า ประเทศทั่วโลกร้อยละ 70 แล้วเผชิญปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับข้าราชการ “รับสินบน” และจากทั้งหมด 177 ประเทศที่มีการสำรวจ ไม่มีประเทศใดเลยที่ทำคะแนนได้สมบูรณ์ 100%
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index – CPI) ที่ Transparency International เผยแพร่เป็นประจำทุกปี ถือเป็นตัวชี้วัดความไม่ซื่อสัตย์ของพรรคการเมือง, ตำรวจ, กระบวนการยุติธรรม และส่วนราชการในประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาและขจัดวงจรความยากจน
ฟินน์ ไฮน์ริช หัวหน้าคณะนักวิจัยให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า “การทุจริตคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อคนยากจนมากที่สุด... หากดูจากประเทศลำดับท้ายๆ ของรายนามก็จะพบว่า พลเมืองที่เดือดร้อนมากที่สุดในประเทศเหล่านั้นก็คือคนจน ประเทศเหล่านี้จะไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ หากไม่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน”
สงครามกลางเมืองหรือเหตุความไม่สงบมีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศตกต่ำลงอย่างมาก เช่นในกรณีของ ซีเรีย, โซมาเลีย และมาลี
“การคอร์รัปชันมีส่วนเชื่อมโยงอย่างยิ่งกับเหตุจลาจลวุ่นวาย เช่น ในกรณีของ ลิเบีย และซีเรีย ซึ่งภาวะการคอร์รัปชันใน 2 ประเทศนี้ถือว่ารุนแรงขึ้นมากที่สุด” ไฮน์ริช ระบุ
ในส่วนของอัฟกานิสถาน ไฮน์ริช ชี้ว่าเป็นเรื่อง “น่าเสียใจ... เพราะเราไม่ได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเลย”
“ชาติตะวันตกไม่เพียงทุ่มงบประมาณสนับสนุนด้านความมั่นคงแก่อัฟกานิสถาน แต่ยังพยายามส่งเสริมเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจช่วง 2-3 ปีมานี้เราพบว่า ชาวอัฟกานิสถานยังคงจ่ายสินบนอย่างแพร่หลายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก”
อีกหนึ่งประเทศที่มีการทุจริตสูงที่สุดคือ เกาหลีเหนือ ซึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือหลายคนระบุว่า ภาวะภัยแล้งยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่โสมแดงทุจริตกันมากขึ้น
“ถ้าต้องการอยู่รอด คุณจำเป็นต้องรู้จักใครสักคนในพรรคแรงงานเกาหลีที่ติดสินบนได้” ไฮน์ริช กล่าว
พม่าจัดอยู่ในกลุ่มประเทศซึ่งมีพัฒนาการเชิงบวกมากที่สุด หลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารยอมเปิดทางให้ประเทศก้าวสู่ยุคประชาธิปไตยเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และปฏิรูประบบบริหารราชการจนค่อนข้างโปร่งใสและตรวจสอบได้
Transparency International ได้จัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี โดยอาศัยการเปรียบเทียบข้อมูลจากองค์กรระดับโลก เช่น เวิลด์แบงก์, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา, หน่วยวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit), มูลนิธิ Bertelsmann, องค์กรฟรีดอมเฮาส์ และอื่นๆ
องค์กรแห่งนี้จะจัดลำดับความโปร่งใสของแต่ละประเทศโดยให้คะแนนจาก 0-100 คะแนน 0 นั้นหมายถึง “คอร์รัปชันสูงสุด” และ 100 หมายถึง “โปร่งใสที่สุด”
ประเทศที่ได้คะแนนอยู่ระหว่าง 10-19 ได้แก่ อิรัก, ซีเรีย, ลิเบีย, ซูดาน, ซูดานใต้, ชาด, อิเควทอเรียลกินี, กินีบิสเซา, เฮติ, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน และเยเมน
เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ได้คะแนนความโปร่งใสสูงสุด 91 คะแนน ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 80-89 ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก, แคนาดา, ออสเตรเลีย, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์, นอร์เวย์, สวีเดน และฟินแลนด์
สำหรับประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 35 และจัดอยู่ในลำดับที่ 102 ของโลกเท่ากันกับเอกวาดอร์, มอลโดวา และปานามา ซึ่งถือว่าตกต่ำลงจากปีที่แล้วที่ไทยเคยได้คะแนน 37 และอยู่ในลำดับที่ 88 ของโลก