xs
xsm
sm
md
lg

มะกันส่ง “เครื่องบินตรวจการณ์” รุ่นใหม่ล่าสุดไปญี่ปุ่น ช่วยปกป้องหมู่เกาะที่พิพาทกับจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) เครื่องบิน PC3 ของกองกำลังป้องกันตนทางทะเลญี่ปุ่น ขณะบินผ่านหมู่เกาะเซงกากุ หรือเตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่นกับจีนกำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่
รอยเตอร์ – เครื่องบินตรวจการณ์ P-8 โพไซดอน ซึ่งเป็นรุ่นทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ ลำแรกได้เดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของการนำอากาศยานรุ่นนี้เข้าประจำการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการไล่ล่าเรือดำน้ำ และเรือรบอื่นๆ ในทะเลที่อยู่ใกล้กับจีน ขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

ตามแผนการที่เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนที่จีน จะประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งครอบคลุมหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ หรือเซงกากุ ที่จีนกับญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่ สหรัฐฯ กำหนดจัดส่งเครื่องบินรุ่นนี้รวม 6 ลำ ไปประจำการที่ฐานทัพอากาศคาเดนะ บนเกาะโอกินาวะในเดือนนี้

เครื่องบินตรวจการณ์ P-8 โพไซดอน ลำแรกเดินทางถึงญี่ปุ่นแล้วเมื่อวันอาทิตย์ (1 ธ.ค.) โดยโฆษกของกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า ภารกิจในน่านน้ำทางตะวันตกของญี่ปุ่นครั้งนี้ จะเป็นภารกิจแรกของอากาศยานรุ่นนี้ไม่ว่าที่ใดในโลก

บริษัทโบอิ้ง ผลิต P-8 โพไซดอนรุ่นนี้ โดยอิงตามเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 เพื่อนำมาใช้แทน P-3 โอไรออน ของบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน ซึ่งเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ลำเก่า ที่ขับเคลื่อนด้วยใบพัด และประจำการมานานถึง 50 ปีแล้ว

ทั้งนี้ เครื่องบิน P-8 ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์รุ่นล่าสุด ตลอดจนติดอาวุธทั้งตอร์ปิโด และขีปนาวุธต่อสู้เรือรบลำนี้ สามารถบินได้ไกล และปฏิบัติภารกิจได้นานกว่า P-3

P-8 มาถึงญี่ปุ่นหนึ่งวัน ก่อนที่รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะมาเยือนกรุงโตเกียว ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ถูกครอบงำโดยประเด็นเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่จีนกับญี่ปุ่นกำลังพิพาทกันอยู่

ขณะที่สหรัฐฯ บอกว่าไม่ได้แสดงจุดยืนว่า ฝ่ายใดควรเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “เซงกากุ” และจีนขนานนามว่า “เตี้ยวอี๋ว์” แต่กลับยอมรับอำนาจควบคุมหมู่เกาะนี้ของญี่ปุ่น และประกาศจะช่วยปกป้องดินแดนส่วนนี้ ภายใต้กติกาสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคี ที่ตนทำร่วมกับญี่ปุ่น
หมู่เกาะเซ็งกากุ หรือเตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างอ้างความเป็นเจ้าของ
กำลังโหลดความคิดเห็น