เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลีย ชี้ กรณีการดักฟังโทรศัพท์ผู้นำอิเหนาจะเป็นบทเรียนให้ความสัมพันธ์ระหว่างแคนเบอร์รา กับจาการ์ตา “แน่นแฟ้น” ยิ่งขึ้น พร้อมแนะให้ทั้ง 2 ฝ่ายจัดประชุม “โต๊ะกลม” ถกปัญหาด้านความมั่นคงเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
ถ้อยแถลงของ แอ็บบอตต์ ในวันนี้ (27) มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย เริ่มมีท่าทีผ่อนปรนจากการได้รับจดหมายของ แอบบ็อตต์ ที่เขียนไปอธิบายกรณีหน่วยข่าวกรองจิงโจ้ดักฟังโทรศัพท์ ยุทโธโยโน, ภริยา และรัฐมนตรีอาวุโสของแดนอิเหนาหลายราย เมื่อปี 2009
“ท่านได้มีถ้อยแถลงที่อบอุ่นยิ่ง และเป็นถ้อยแถลงเชิงบวกอย่างยิ่งต่อออสเตรเลีย” แอ็บบอตต์ เอ่ยถึงปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้นำอินโดนีเซีย
“ท่านยังเสนอให้มีการส่งผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายเข้าหารือในอีก 2-3 วันนี้ เพื่อแก้ไขอุปสรรคใหญ่ๆ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ... ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดี และจะนำไปพิจารณา ก่อนจะให้คำตอบกับทางอินโดนีเซียอย่างชัดเจน”
ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี หลังจากสัปดาห์ที่แล้วสื่อมวลชนได้เผยแพร่เอกสารลับของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งระบุว่า หน่วยข่าวกรองออสเตรเลียสอดแนมการสื่อสารของประธานาธิบดี ยุทโธโยโน เมื่อปี 2009
จาการ์ตา ได้ตอบโต้ข่าวนี้อย่างรุนแรง โดยสั่งระงับความร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลียทั้งในด้านการซ้อมรบ และการต่อสู้ขบวนการค้ามนุษย์ และยังเรียกทูตอิเหนาประจำกรุงแคนเบอร์รากลับประเทศด้วย
รัฐบาลอินโดนีเซียยิ่งขุ่นเคืองหนัก เมื่อนายกฯจิงโจ้ปฏิเสธที่จะ “ขออภัย” หรือแม้แต่ให้คำอธิบายที่ชัดเจนกรณีการดักฟังโทรศัพท์ผู้นำเพื่อนบ้าน
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระบุว่า แอ็บบอตต์ ได้ยืนยันผ่านจดหมายว่า “ออสเตรเลียจะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวน หรือทำให้อินโดนีเซียต้องสูญเสียผลประโยชน์อีกในอนาคต” ซึ่งตนเองมองว่า “เป็นประเด็นสำคัญที่สุด”
ยุทโธโยโน กล่าวเสริมอีกว่า แอบบ็อตต์ สนับสนุนข้อเสนอของตนซึ่งต้องการให้จัดทำ “ระเบียบปฏิบัติ” และหลักจริยธรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เพื่อนบ้าน โดยจะต้องมีความ “ชัดเจน, เป็นธรรม และถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด”
ด้าน แอ็บบอตต์ ก็สรรเสริญ ยุทโธโยโน ว่าเป็น “ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่” พร้อมยืนยันว่าการจัดประชุมโต๊ะกลมด้านความมั่นคงเป็นสิ่งที่เขาเองก็เห็นด้วย แต่ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เขาสนับสนุน “หลักจริยธรรม” ด้านการสอดแนมที่ว่านี้หรือไม่
“เราจำเป็นต้องทำให้ปัญหายุ่งยากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคลี่คลายไปในทางที่ดี และจุดประสงค์หลักของผมก็คือ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิม”
“ผมอยากให้ออสเตรเลียเป็นหุ้นส่วนที่อินโดนีเซียจะไว้วางใจได้ เช่นเดียวกับที่ผมอยากให้อินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนที่เราจะไว้วางใจได้เช่นกัน” ผู้นำออสซี่กล่าว