เอเอฟพี – ประเทศต่างๆในภูมิภาคแปซิฟิกกำลังเผชิญผลกระทบและความสูญเสียขั้นร้ายแรงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนก่อปัญหาขึ้นควรจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยในรายงานวันนี้(26)
เอดีบี ได้เปิดตัวรายงานล่าสุด “Economics of Climate Change in Pacific” ขึ้นที่นครซิดนีย์ โดยชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจก่อภัยพิบัติซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศแถบแปซิฟิกระหว่าง 2.9-15.2% ของจีดีพี ภายในปี 2100
ภูมิภาคแปซิฟิกประกอบด้วยกลุ่มประเทศขนาดเล็กที่สุดในโลก ซึ่งทุกวันนี้ก็มีความกังวลว่า ภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอาจทำให้ดินแดนเหล่านี้จมหายไปในที่สุด โดยเฉพาะหมู่เกาะปะการังบางแห่งที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร
รายงานของเอดีบีกล่าวถึงผลกระทบของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีต่อการเกษตร, การประมง, การท่องเที่ยว, แนวปะการัง และสุขภาพของมนุษย์ โดย Xianbin Yao ผู้อำนวยการใหญ่เอดีบีประจำภูมิภาคแปซิฟิก เตือนว่าผลกระทบนั้นอาจจะรุนแรงมาก
“ประเทศใหญ่ๆ ที่มีส่วนก่อมลภาวะจนทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ควรต้องยื่นมือเข้าช่วยมิตรประเทศในแปซิฟิก เพื่อป้องกันพวกเขาจากภัยพิบัติ, ความสูญเสียพืชผลทางการเกษตร และการอพยพย้ายถิ่นของประชากรเพื่อหนีภัยธรรมชาติ” Yao กล่าว
“ผลวิจัยของเราพบว่า หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ความสำเร็จในการพัฒนาของประเทศแถบนี้กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ”
แม้ Yao จะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าประเทศใดบ้างที่ควรมีส่วนช่วยเหลือชาติแปซิฟิก แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ, จีน, อินเดีย, ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ถือเป็นกลุ่มประเทศที่สร้างมลภาวะให้กับโลกสูงที่สุด
เอดีบี เตือนว่า ปาปัวนิวกินีเสี่ยงที่จะเผชิญความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง คือราวๆ 15.2% ของจีดีพีภายในปี 2100 รองลงมาได้แก่ ติมอร์ตะวันออก ซึ่งตัวเลขจีดีพีอาจลดลงสูงสุดถึง 10% ตามมาด้วย วานูอาตู (6.2%), หมู่เกาะโซโลมอน (4.7%), ฟิจิ (4.0%) และซามัว (3.8%)
หากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ที่ระดับปานกลาง ฟิจิ, ปาปัวนิวกินี, ซามัว, หมู่เกาะโซโลมอน, ติมอร์ตะวันออก และวานูอาตู จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นราว 2-3 องศาเซลเซียสภายในปี 2070 ซึ่งอาจทำให้พืชผลทางการเกษตรลดลง, จับปลาได้น้อยลง, เกิดปะการังฟอกขาวเป็นบริเวณกว้าง และท้ายที่สุดจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะลดลงตามไปด้วย
มูลค่าความสูญเสียในภูมิภาคแปซิฟิกนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดย เอดีบี แนะนำให้ผู้กำหนดนโยบายทุกประเทศจัดทำแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน นอกจากนี้ ประเทศแถบแปซิฟิกต้องสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อช่วยเหลือในการป้องกันผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงด้วย