เอเจนซีส์ – อเมริกาออกมาแสดง “ความกังวลอย่างลึกซึ้ง” พร้อมยืนยันมุ่งมั่นทำตามพันธกรณีในการคุ้มครองญี่ปุ่น โดยไม่ยอมรับ “เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ” ใหม่ของจีนที่ครอบคลุมเกาะที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนตะวันออก ขณะที่โตเกียวก็เตือนว่าการบังคับใช้มาตรการตามอำเภอใจของปักกิ่งอาจลุกลามไปสู่ “เหตุการณ์ที่เกินคาดหมาย” อย่างไรก็ตาม จีนยืนกรานว่า มาตรการล่าสุดของแดนมังกรนั้นมุ่งรักษาอธิปไตยของตนเอง และไม่ได้พุ่งเป้าที่ประเทศใดโดยเฉพาะ
สืบเนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 พ.ย.) กระทรวงกลาโหมของจีนได้ออกคำแถลง ระบุการจัดตั้ง “เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศในทะเลจีนตะวันออก” ซึ่งปรากฏว่าครอบคลุมน่านน้ำดังกล่าวเกือบทั้งหมด รวมถึงหมู่เกาะเล็กๆ ที่จีนเรียกชื่อว่าเตี้ยวอี๋ว์ แต่ญี่ปุ่นใช้นามว่าเซงกากุ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันแต่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลญี่ปุ่น และข้อพิพาทนี้ทำให้ความสัมพันธ์สองประเทศตึงเครียดอย่างมากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
จีนเตือนว่า จะใช้มาตรการป้องกันฉุกเฉินกับเครื่องบินที่ไม่แสดงตัวตนอย่างเหมาะสมและไม่ปฏิบัติตามกระบวนการของจีนเมื่อบินผ่านน่านฟ้าดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ที่นครเจนีวาในวันเสาร์ (23) ได้ออกมาเรียกร้องให้จีนระมัดระวังและใช้ความอดกลั้น และว่า เสรีภาพในการบินเป็นสิ่งสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในแปซิฟิก
“เรายังคงยึดมั่นต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา และหวังว่าจะเห็นความร่วมมือมากขึ้นและการเผชิญหน้าลดลงในอนาคตในภูมิภาคแปซิฟิกนี้”
ขณะที่ท่าทีของชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกันดูจะเข้มข้นกว่า โดยประกาศชัดเจนว่า อเมริกาที่มีทหารประจำอยู่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กว่า 70,000 นาย ไม่ยอมรับคำประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศของจีน อีกทั้งย้ำว่า เกาะเซงกากุนั้นอยู่ในข่ายความคุ้มครองตามสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าวอชิงตันจะปกป้องคุ้มครองโตเกียวในกรณีที่ดินแดนนี้ถูกโจมตี
เจ้ากระทรวงเพนตากอนบอกอีกว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้ของจีน เป็นความพยายาม “บ่อนทำลายเสถียรภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในภูมิภาค” และสำทับว่า มาตรการฝ่ายเดียวนี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเข้าใจผิดและการคำนวณผิดพลาด
ทางด้านเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ออกนาม แสดงความเห็นว่า การเคลื่อนไหวของปักกิ่งถูกตีความว่าเป็น “การท้าทายโดยตรง” ต่อปฏิบัติการของญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออกที่เชื่อกันว่า อุดมด้วยทรัพยากรพลังงาน
สำหรับปฏิกิริยาของโตเกียวนั้น ในวันเสาร์ จุนอิชิ อิฮาระ อธิบดีกรมกิจการเอเชียและโอเชียนเนีย ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้ประท้วงทางโทรศัพท์ต่อ หาน จื่อเฉียง นักการทูตอาวุโสของแดนมังกรประจำสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงโตเกียว โดยระบุว่า การกระทำเช่นนี้ “ไม่สามารถยอมรับได้โดยสิ้นเชิง” อีกทั้งเป็นการ “ขยาย” ความตึงเครียดทวิภาคีระหว่างประเทศทั้งสองในปัจจุบัน ซึ่งเป็น “อันตรายอย่างยิ่ง”
ต่อมาในวันอาทิตย์ (24) รัฐมนตรีต่างประเทศ ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้ออกมาเตือนสำทับว่า การกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้ของจีน ทำให้มีอันตรายที่จะเกิด “เหตุการณ์ที่เกินคาดหมายในจุดดังกล่าว” พร้อมกับเสริมว่าญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะทำการประท้วงจีนอย่างแข็งขันยิ่งขึ้น “ในระดับที่สูงยิ่งขึ้น”
ขณะที่การตอบโต้ของฝ่ายจีน หาน นักการทูตในสถานเอกอัครราชทูตแดนมังกรประจำโตเกียว ออกคำแถลงการณ์ในวันเสาร์ว่า ญี่ปุ่นไม่มีสิทธิ์ประกาศแบบไร้ความรับผิดชอบ และว่า เป้าหมายของรัฐบาลจีนคือ ปกป้องอธิปไตยและน่านฟ้าของประเทศ รวมทั้งไม่ได้มีเป้าหมายที่ประเทศใดโดยเฉพาะ อีกทั้งไม่กระทบต่อเสรีภาพในการใช้น่านฟ้าดังกล่าวแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ หยาง อี่ว์จุน โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ได้ออกคำแถลงในวันเสาร์เช่นกันว่า การจัดตั้งเขตดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่เช้าวันเดียวกันนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องอธิปไตย ความมั่นคงแห่งดินแดนทางบกและทางอากาศของรัฐจีน ตลอดจนธำรงรักษาระเบียบในการบิน
“นี่เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้จีนสามารถรักษาสิทธิในการป้องกันตนเองได้ โดยมิได้พุ่งเป้าหมายไปที่ใครโดยเฉพาะ และจะไม่กระทบกระเทือนเสรีภาพในการบินในน่านฟ้าที่เกี่ยวข้องนี้เลย” คำแถลงของหยางที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงระบุ
ทางด้าน เฉิน จินเก๋อ โฆษกกองทัพอากาศจีนแถลงในตอนดึกวันเสาร์ว่า ได้เริ่มการตรวจการณ์เขตป้องกันทางอากาศแล้ว โดยใช้ทั้งเครื่องบินเตือนภัยและเครื่องบินขับไล่
ในส่วนญี่ปุ่นมีรายงานว่า ได้ส่งสัญญาณรบกวนเครื่องบินสอดแนม 2 ลำของจีนที่บินเหนือทะเลจีนตะวันออกเมื่อบ่ายวันเสาร์
ขณะที่ มาซาฮิโกะ โคมูระ รองประธานพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (24) ว่า ญี่ปุ่นยังคงยืนยันสิทธิเหนือหมู่เกาะเซงกากุ และว่า กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นกับกองทัพจีนจำเป็นต้องติดต่อกันใกล้ชิดเพื่อป้องกันเหตุการณ์ลุกลาม
ส่วนนารูชิเกะ มิชิชิตะ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตแห่งชาติเพื่อการต่างประเทศศึกษา ของญี่ปุ่น ขานรับว่า ถ้าจีนบังคับใช้เขตป้องกันทางอากาศดังกล่าว อาจนำไปสู่เหตุรุนแรงหากเครื่องบินของทั้งสองชาติเผชิญหน้ากันในบริเวณนั้น
มิชิชิตะยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจีนจึงประกาศมาตรการนี้ขณะที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น พยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับปักกิ่ง นอกจากนี้ สัปดาห์ที่แล้ว ตัวแทนคณะใหญ่จากภาคธุรกิจญี่ปุ่นยังเดินทางเยือนจีนเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน