xs
xsm
sm
md
lg

‘ปากีสถาน’มองหา ‘ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่’

เผยแพร่:   โดย: อาบูบาการ์ ซิดดิเก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistan looks to fill Kiani’s military boots
By Abubakar Siddique
20/11/2013

ขณะที่ พลเอก อัชฟัก ปาร์เวซ คิอานี กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกปากีสถานของเขาในเวลาอีกเพียงสัปดาห์เศษๆ ข้างหน้านี้ พวกผู้นำพลเรือนของประเทศก็เร่งมองหาผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อไป ซึ่งจะสามารถทำการสู้รบอย่างได้ผลกับพวกหัวรุนแรงติดอาวุธ และโดยรวมๆ แล้วมีความพยายามที่จะถอยห่างออกมาจากแวดวงการเมือง ทั้งนี้เห็นกันว่ามีผู้แข่งขันรวม 4 รายซึ่งอยู่ในข่ายที่อาจจะได้รับคัดเลือก

ปากีสถานนั้นมีแม่แบบที่ตนเองต้องการแล้ว สำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายทหารใหญ่ระดับท็อป และมาถึงตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือหาคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว จากการที่ พล.อ.อัชฟัก ปาร์เวซ คิอานี (Ashfaq Parvez Kiani) กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก บรรดาผู้นำพลเรือนของประเทศจึงต้องเร่งหาคนที่จะมาสืบทอดตำแหน่ง ผู้ซึ่งควรที่จะมีสไตล์ใกล้เคียงกับ คิอานี นั่นก็คือ เป็นทหารแท้ที่สามารถสู้รบทำศึกกับพวกหัวรุนแรงติดอาวุธ และโดยรวมๆ แล้วมีความพยายามที่จะถอยห่างออกมาจากแวดวงการเมือง

อิสลามาบัดยังคงปิดปากสนิทในเรื่องที่ว่าใครจะมาแทนที่ คิอานี ผู้ซึ่งจะอำลาตำแหน่งในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ แต่มีรายงานว่าผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณานั้นเหลืออยู่เพียง 4 ราย โดยที่ 2 รายในจำนวนนี้สร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองจากการทำศึกกับพวกตอลิบานปากีสถาน (Pakistani Taliban) ขณะที่อีก 2 รายเติบโตขึ้นมาจากความสำเร็จทางอาชีพและการดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ภายในระบบราชการของฝ่ายทหาร

ตอลัต มาซูด (Talat Masood) นายทหารเกษียณอายุยศพลเอก ให้ความเห็นว่าผู้บัญชาการคนใหม่ของกองทัพบกจะต้องสามารถเป็นผู้นำในการปฏิบัติการสู้รบ, บำรุงขวัญกำลังใจและรักษาระเบียบวินัยของทหาร, และแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นพรักพร้อมที่จะทำงานกับรัฐบาลพลเรือนที่ครองอำนาจอยู่

ในท้ายที่สุดแล้ว นายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ นั่นแหละคือผู้ที่จะตัดสินใจว่าจะให้ใครเข้าคุมบังเหียนกองทัพบก กระนั้นก็ตามที ข้อเสนอแนะคำรับรองจากพวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งรวมถึงจากตัวผู้บัญชาการทหารบกที่กำลังจะพ้นตำแหน่งด้วย ก็เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักซึ่งต้องนำมาพิจารณาไตร่ตรองเป็นอย่างมากทีเดียว

แท้ที่จริง การเพิกเฉยละเลยข้อเสนอแนะคำรับรองจากฝ่ายทหาร เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงยิ่ง ดังที่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจหลายต่อหลายครั้ง ภายหลังรัฐบาลตัดสินใจเลือกนายใหญ่ของกองทัพบกตามใจตัวเองในระหว่างช่วงทศวรรษ 1970 และทศวรรษ 1990 แม้กระทั่งตัวชารีฟเองก็เคยถูกโค่นล้มจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้วในปี 1999 หลังจากใช้ความพยายามอย่างไม่ประสบผลในการแต่งตั้งนายทหารที่อยู่ในคาถาคนหนึ่ง ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก แทนที่คนเดิมในเวลานั้น ซึ่งคือ พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ (Pervez Musharraf)

**ข้อพิจารณาในทางการเมือง**

ตามคำบอกเล่าของ มาซูด มีข้อพิจารณาทางการเมืองอันสำคัญยิ่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะแสดงบทบาทในตอนที่มีการตัดสินใจ

“นายทหารผู้นี้วางตัวอย่างไรในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย, ในเรื่องการรักษาระยะห่างระหว่างกองทัพบกกับกิจการด้านพลเรือน นอกจากนั้นเรื่องที่นายทหารผู้นี้มีประสบการณ์ขนาดไหนในการสู้รบกับพวกผู้ก่อความไม่สงบ ก็จะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญยิ่งประการหนึ่งในการคัดเลือก” พลเอกนอกราชการผู้นี้กล่าว “แน่นอนทีเดียวว่า แม่ทัพบกยังควรต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญของนักการทูตด้วย ... ในการเจรจาต่อรองกับพวกกองทัพต่างชาติ อย่างเช่นกองทัพบกอเมริกัน และกองทัพนาโต้”

ทั้ง 4 รายซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในข่ายตัวเก็งจะได้รับตำแหน่งต่อจาก คิรานี เวลานี้ทุกคนล้วนแต่มียศพลโท

ฮารูน อัสลัม (Haroon Aslam) นั้น เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารหน่วยรบพิเศษของปากีสถาน ที่เคยเป็นผู้นำในภารกิจสู้รบแบบหน่วยคอมมานโด ในระหว่างที่รัฐบาลทำการรุกใหญ่ เพื่อยุติสภาวการณ์ที่พวกตอลิบานเข้าควบคุมดินแดนหุบเขาสวัต (Swat Valley) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อปี 2009

ขณะที่ ตอริก ข่าน (Tariq Khan) มีเกียรติประวัติทางด้านการสู้รบอันโดดเด่นทำนองเดียวกัน โดยเขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความปราชัยให้แก่พวกตอลิบาน ในเขตพื้นที่ชาวชนเผ่ารวม 2 เขต ได้แก่ เขตเซาท์วาซิริสถาน (South Waziristan) เมื่อปี 2008 และเขตบาจาอูร์ (Bajaur) เมื่อปี 2009

สำหรับ ราชิด มาห์มูด (Rashad Mahmood) และ ราฮีล ชารีฟ (Raheel Sharif) แต่ละคนต่างมีผลงานอันน่าประทับใจในแวดวงราชการทหาร และเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งในสายบังคับบัญชาและสายเสนาธิการ ถึงแม้มีรายงานว่าทั้งคู่ยังไม่เคยนำทหารเข้าทำศึกกับพวกตอลิบานเลย

**เรื่องอาวุโสก็อาจถูกหยิบมาพิจารณา**

ในความเห็นของ มาซูด การที่ อัสลัม มีอาวุโสสูงสุด เนื่องจากรับราชการทหารมา 38 ปี ทำให้เขาได้เปรียบเหนือกว่าตัวเก็งอื่นๆ ทั้ง 3 คน

“ฮารูน อัชลัม เป็นคนที่อาวุโสที่สุด” เขากล่าว “ผมไม่เห็นมีเหตุผลอะไรเลยที่จะมาแต่งตั้งคนอื่นข้ามหน้าข้ามตาเขาไป ในเมื่อเขายังมีผลงานการรับราชการที่ดีเยี่ยมด้วย”

ทว่า ฮามิด ฮุสเซน (Hamid Hussain) นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับกิจการทหารของปากีสถาน ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่นิวยอร์ก กลับมองว่า เรื่องอาวุโสนั้นเป็นเพียงหลักเกณฑ์ทั่วไปที่ถูกนำมาใช้กันอย่างหลวมๆ ไม่เคร่งครัดอะไร และไม่แน่ว่าจะถูกนำมาใช้ตัดสินให้ใครขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป

ฮุสเซนทำนายว่า มีโอกาสมากกว่าที่ อัสลัม จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม (Joint Chiefs of Staff committee) ถึงแม้ในทางทฤษฎีแล้ว การดำรงตำแหน่งนี้จะทำให้เขากลายเป็นนายทหารที่ทรงอำนาจที่สุดในปากีสถาน ทว่าในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ตำแหน่งสั่งการบังคับบัญชา และผู้นั่งตำแหน่งนี้ก็ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งนายทหารระดับอาวุโสแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นตำแหน่งที่ให้แต่เกียรติยศ ทว่าไร้อำนาจ

ถ้าหาก อัสลัม ถูกเลื่อนขึ้นไปเป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมจริงๆ ก็จะเป็นการเปิดประตูให้ มาห์มูด ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ฮุสเซนมีความเห็นเช่นนี้ โดยที่เขาระบุว่ามีสัญญาณหลายๆ อย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่า คิอานี กำลังบ่มเพาะพลโทผู้นี้ให้ขึ้นเป็นทายาทของเขา

ฮุสเซนบอกอีกว่า มาห์มูดยังได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานกับ ชาห์บาซ ชารีฟ (Shahbaz Sharif) น้องชายของนายกรัฐมนตรีชารีฟ ในตอนที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพอยู่ในเมืองละฮอร์ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ละฮอร์ เป็นเมืองเอกของแคว้นปัญจาบ แคว้นใหญ่ทางภาคตะวันออกของประเทศที่เป็นฐานเสียงของพี่น้องชารีฟ โดยที่ตัว ชาห์บาซ ชารีฟ เป็นมุขมนตรีของแคว้นนี้มายาวนานตั้งแต่เมื่อปี 2008

“เขา (มาห์มูด) มีคุณสมบัติแบบเป็นทางการมากกว่า เมื่อพูดกันในด้านผลงานทางอาชีพและบุคลิกภาพส่วนตัว” ฮุสเซน บอก “เขาไม่ใช่คนประเภทชอบโวยวายหรือก้าวร้าว เขาเพียงแต่เดินไปตามมาตรฐานที่มีอยู่และปฏิบัติตามกิจวัตรที่เป็นอยู่ ดังนั้น ชารีฟทั้งพี่ทั้งน้องจึงอาจจะรู้สึกสบายอกสบายใจ ไม่คิดว่าถูกคุกคามอะไรเลย เนื่องจากเขาน่าจะไม่ใช้ท่าทียืนกรานเสียงแข็ง และก็จะไม่กดดันไล่จี้พี่น้องชารีฟจนเกินไป”

**คนที่เป็นม้ามืด**

ตามความเห็นของฮุสเซน แทบไม่มีโอกาสเอาเลยที่ พล.ท.ราฮีล ชารีฟ จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพบก เนื่องจากเขาไม่ได้รับการยอมรับว่าจะเป็นผู้บัญชาการที่มีความเข้มแข็งเพียงพอ ตรงกันข้ามกับ ตอริก ข่าน ซึ่งสามารถที่จะพิจารณาว่า เป็นผู้เข้าแข่งขันที่อาจกลายเป็นม้ามืดได้

ในช่วงเวลา 36 ปีที่เขารับราชการทหารมา เขาเคยเป็นผู้บังคับบัญชาในภารกิจต่อสู้กับพวกหัวรุนแรงอย่างประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งมีรายงานว่าเขาเป็นคนที่กล้าพูดกล้าสนับสนุนให้กำจัดพวกผู้ก่อการร้ายทั้งหลายให้หมดไปจากแผ่นดินของชาวปากีสถาน

“คนที่มีความคิดอ่านอย่างชัดเจนว่า เรื่องนี้ (การก่อการร้าย) เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อการดำรงคงอยู่ของปากีสถาน ก็คือ ตอริก ข่าน นี่แหละ” ฮุสเซน บอก “เขายังมีความคิดอ่านอย่างชัดเจนในเรื่องที่ว่าจะจัดการอย่างไรกับการก่อการร้ายนี้ ด้วยเหตุนี้เอง จากศักยภาพในเรื่องนี้ มองกันในระหว่างตัวเก็งทั้ง 4 รายแล้ว เขาจะเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยมที่สุด ทั้งนี้สำหรับคนที่จะขึ้นนั่งเก้าอี้แม่ทัพบกคนใหม่ ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปีนับจากนี้ไป คุณสมบัติข้อที่จำเป็นที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติการทางทหารแบบเป็นฝ่ายลงมือก่อน และด้วยเหตุผลข้อนี้แหละ คนที่ใช่จึงน่าจะเป็นเขาผู้นี้”

รายงานนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น