เอเจนซีส์ – ศาลปากีสถานเมื่อวันอังคาร (20 ส.ค.) ตั้งข้อหา พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อดีตประธานาธิบดีที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร ฐานกระทำฆาตกรรมผู้นำฝ่ายค้าน เบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในปากีสถานที่อดีตผู้บัญชาการกองทัพถูกตั้งข้อหาทางอาญา และแม้น้อยคนที่เชื่อว่า มีหลักฐานเอาผิดมูชาร์ราฟได้ แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นการส่งสัญญาณการท้าทายอำนาจกองทัพที่ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว
นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศ ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองแห่งนี้ ซึ่งในอดีตปกครองโดยทหารมากว่า 30 ปี การฟ้องร้องนี้ยังเป็นการแหกกฎที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถือปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชนชั้นปกครองของปากีสถานที่ว่า นายทหารใหญ่เป็นผู้ที่ไม่อาจแตะต้องได้ ขณะที่ปากีสถานกำลังพยายามชำระล้างมรดกอำนาจของทหารภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ
มูชาร์ราฟที่ยึดอำนาจในการปฏิวัตินองเลือดปี 1999 และขึ้นเป็นประธานาธิบดีในระหว่างปี 2001-2008 กระทั่งจำใจลงจากตำแหน่งเมื่อพรรคประชาชนปากีสถานของบุตโตชนะการเลือกตั้งในปี 2008 นั้น ถูกกล่าวหาในคราวนี้รวม 3 กระทงคือ ฆาตกรรม สมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรม และสนับสนุนให้มีการฆาตกรรม
ทว่า มูชาร์ราฟที่เพิ่งฉลองอายุ 70 ปีสดๆ ร้อนๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ระหว่างการปรากฏตัวที่ศาลต่อต้านการก่อการร้ายในเมืองราวัลปินดี ในวันอังคาร (20) ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา
ชอดรี อัซฮาร์ อัยการรัฐเผยว่า ศาลจะเริ่มการไต่สวนในวันที่ 27 นี้
บุตโต นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง 2 สมัยของปากีสถาน และผู้นำหญิงคนแรกในประเทศมุสลิม ถูกลอบสังหารจากปืนและระเบิดฆ่าตัวตายในราวัลปินดีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2007 ไม่กี่สัปดาห์หลังเดินทางกลับจากการเนรเทศตัวเองไปอยู่ในต่างประเทศมานานหลายปี
ตามรายงานของสหประชาชาติที่ออกมาในปี 2010 ระบุว่า การเสียชีวิตของบุตโตเป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันได้ และกล่าวหารัฐบาลของมูชาร์ราฟในขณะนั้นว่า ไม่ให้การอารักขาบุตโตอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า มูชาร์ราฟจะได้รับการตัดสินว่า มีความผิดฐานฆาตกรรมจริง
อิมเตียซ กุล นักวิเคราะห์การเมือง มองว่า กระบวนการพิจารณาน่าจะใช้เวลายาวนานมาก และคงยากที่จะพิสูจน์ได้ว่า มูชาร์ราฟอยู่เบื้องหลังหรือเป็นผู้วางแผนสังหาร
อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องนี้ไม่อาจสยบการคาดเดาที่ว่า อาจมีการตกลงกันหลังฉากเพื่อให้มูชาร์ราฟเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ต้องถูกจำคุก
กุลสำทับว่า เรื่องนี้มีผู้เล่นภายนอกเกี่ยวข้องด้วย เช่น ซาอุดีอาระเบีย และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาและอังกฤษที่อาจเจรจาหาทางออกให้มูชาร์ราฟ เช่นที่เคยช่วยเหลือนาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนปัจจุบัน เมื่อครั้งที่ชารีฟถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตหลังถูกมูชาร์ราฟยึดอำนาจ แต่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในซาอุดีอาระเบีย และกลับมาลงเลือกตั้งจนได้รับชัยชนะในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2011 ศาลแห่งเดียวกันนี้ก็ได้ตั้งข้อหาตำรวจ 2 นาย และผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มตอลิบาน 5 คนข้อหาฆาตกรรมบุตโต ทว่า ยังไม่มีคนไหนถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลเสียที ขณะที่การสังหารอดีตผู้นำหญิง ก็ไม่ได้มีกลุ่มใดออกมาประกาศความรับผิดชอบ
รัฐบาลของมูชาร์ราฟกล่าวหาว่า ไบตุลเลาะห์ เมห์ซุด ผู้นำกลุ่มตอลิบานปากีสถาน เป็นผู้วางแผนสังหารบุตโต ทว่า เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเมห์ซุดเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ของอเมริกาในปี 2009
คดีบุตโตเป็นเพียง 1 ในหลายๆ คดีที่มูชาร์ราฟเป็นจำเลยนับจากกลับสู่ปากีสถานในเดือนมีนาคม หลังจากเนรเทศตัวเองไปอยู่ต่างประเทศนาน 4 ปี
รัฐบาลชุดปัจจุบันเผยว่า จะมีการดำเนินคดีกับมูชาร์ราฟข้อหาทรยศชาติจากการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ มูชาร์ราฟที่ถูกห้ามลงเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ยังถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกักขังหน่วงเหนี่ยวคณะผู้พิพากษาในปี 2007 รวมทั้งตกเป็นจำเลยในคดีฆาตกรรมนาวับ อัคบาร์ บุกติ ผู้นำกลุ่มกบฏแคว้นบาลูจิสถาน และถูกหมายหัวจากกลุ่มตอลิบานที่พยายามลอบสังหารเขามาแล้ว 2 ครั้งระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งนี้ตอลิบานยังประกาศจะลงมือใหม่หากมูชาร์ราฟกลับประเทศ
เขาถูกศาลสั่งกักบริเวณอยู่ในวิลลาหรูหราชานกรุงอิสลามาบัดของเขามาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน
ขณะเดียวกัน องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานดำเนินคดีกับมูชาร์ราฟจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมดในสมัยที่เขาปกครองประเทศ