xs
xsm
sm
md
lg

‘กลุ่มการเมืองสายกลาง’ทั่วโลกกำลังใกล้สูญพันธุ์ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ชาน อัคยา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Centrist sinkholes
By Chan Akya
15/11/2013

เวลาผ่านไปหนึ่งร้อยปีแล้ว หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นปะทุขึ้นมา ทว่าในขณะนี้พวกผู้ออกเสียงในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนความคิดหันไปในทางนิยมกลุ่มการเมืองประหลาดๆ นอกแบบแผนกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการเทคะแนนสนับสนุนหนทางเลือกซึ่งเป็นอันตรายยิ่ง ส่วนในหมู่ชาติกำลังพัฒนา การปฏิวัติ “อาหรับสปริง” ที่ล้มเหลวในประเทศแล้วประเทศเล่าทางตะวันออกกลาง ตลอดจนกระบวนการสร้างสันติภาพที่ชะงักงันทั้งในอิหร่านและในปากีสถาน เหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่าความปั่นป่วนอลหม่านวุ่นวายไปทั่ว จะเป็นกระแสหลักที่ครอบงำการเมืองโลกในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมเขียนบทความที่ใช้ชื่อว่า “หลักการที่อยู่เหนือหลักการ” (Principal over Principle) นำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์เอเชียไทมส์ออนไลน์แห่งนี้ (ดูเรื่อง Principal over principle , Asia Times Online, June 6, 2009) โดยแจกแจงตั้งข้อสังเกตว่า ปรัชญาแบบแนวคิดสายกลางทั้งหลายในโลกตะวันตกน่าที่จะล่มสลายพังครืนลงไปเป็นแถว เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจอันหนักหนาสาหัสที่ปรากฏให้เห็นแล้วในเวลานั้น และนี่ก็จะเป็นการแผ้วถางทางให้แก่พวกส่วนประกอบในทางหัวรุนแรงทั้งหลาย ที่จะก้าวผงาดโดดเด่นขึ้นมาแทนที่ จนกลายเป็นพลังทางการเมืองต่างๆ ที่ครอบงำทั่วโลก

นี่เป็นคำพยากรณ์ที่ผมเองปรารถนาอย่างที่สุดให้มันกลายเป็นการทำนายที่ผิดพลาด แต่โชคร้ายเหลือเกิน รายงานข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ปรากฏออกมาในเวลานี้ กลับบ่งบอกถึงทิศทางกระแสแนวโน้มอย่างเดียวกันเปี๊ยบ กับพวกที่ผมเคยชี้ออกมาให้เห็นในบทความดังกล่าว

เราสามารถมองเห็นกระแสแนวโน้มเหล่านี้ได้ จากเบื้องลึกของบรรดาสายใยทางความคิดอันหลากหลายนานาซึ่งปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ ในปัจจุบัน โดยที่ผมขอนำแนวโน้มดังกล่าวมาบรรยายเอาไว้อย่างสั้นๆ ข้างล่างนี้ แต่ผมขออนุญาตว่าผมจะไม่พยายามอธิบายตัวแนวโน้มแต่ละอันโดยตรง (คุณมี “กูเกิล” เอาไว้ใช้งานในเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว) หากแต่จะโยงใยเชื่อมต่อจุดสำคัญต่างๆ เพื่อนำไปสู่ประเด็นแบบภาพรวมที่เป็นหัวใจของทิศทางกระแสแนวโน้มเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งก็คือ การพังทลายของแนวความคิดแบบสายกลางในทางการเมือง

ทิศทางแนวโน้มที่ผมจะขอหยิบยกมากล่าวไว้สั้นๆ มี ดังนี้
1. ขบวนการ “ที ปาร์ตี” (Tea Party) ในสหรัฐฯ และผลสะเทือนทางการเมืองที่ยาวไกลของขบวนการนี้

2. ยุโรปที่กำลังนิยมแนวความคิดแบบชายขอบนอกแบบแผนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

3. จาก “อาหรับสปริง” (ฤดูใบไม้ผลิแห่งโลกอาหรับ) กลายเป็น “ฤดูหนาวอันยะเยือก” เมื่อพวกอิงศาสนาเคร่งจารีตกำลังเติบใหญ่มีกำลังมากขึ้นทุกที

**ขบวนการ “ที ปาร์ตี” กับสิ่งที่ขบวนการนี้คัดค้านไม่พอใจ**

การเมืองอเมริกันในทุกวันนี้ กำลังประสบความยากลำบากเมื่อต้องตกอยู่ท่ามกลางกลุ่มชายขอบนอกแบบแผนต่างๆ ตัวอย่างที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดของกลุ่มชายขอบดังกล่าวนี้ ก็คือ ขบวนการ ที ปาร์ตี ซึ่งกำลังมีฐานะเป็นบล็อกทางการเมืองขนาดใหญ่ที่สุด (หากนับกันเดี่ยวๆ ไม่ปะปนกับใคร) ทั้งนี้ขบวนการนี้เป็นตัวแทนของความไม่พอใจ ต่อการทดลองของอเมริกาในหลายๆ เรื่องที่ผ่านๆ มา ตั้งแต่ โลกาภิวัตน์ (globalization), การเข้าแทรกแซงชาติอื่นๆ ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมแบบผ่านการคัดสรร (selective humanitarian intervention), สงครามต่อสู้กับการก่อการร้าย (war on terror), และกระทั่งเรื่องการแสดงบทบาทของสหรัฐฯในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจของโลก

พวกสาวกผู้ติดตามขบวนการที ปาร์ตี โดยทั่วๆ ไปแล้วดูหมือนจะเป็นพวกต่อต้านรัฐสวัสดิการ (anti-welfare) และต่อต้านผู้อพยพ (anti-immigrant) นอกจากนั้นพวกเขาส่วนใหญ่มากมายเหลือเกินยังเป็นพวกต่อต้านวิทยาศาสตร์ (anti-science) (เป็นการต่อต้านวิทยาศาสตร์ประเภททฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ถึงแม้พวกเขาดูจะมีความสุขสุดเพอร์เฟ็คต์กับเครื่องไอโฟนของพวกเขา) ที่กล่าวมาเหล่านี้ เป็นผลซึ่งออกมาจากการสำรวจความคิดเห็นหลายต่อหลายครั้ง

สิ่งที่เริ่มต้นขึ้นมาในฐานะที่เป็น ขบวนการต่อต้านคัดค้านการที่รัฐนำเอางบประมาณแผ่นดินไปช่วยเหลือธนาคารและบริษัทยักษ์ใหญ่ภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ให้มีอันล้มละลายพังครืนลงไป (มักมีการอ้างอิงกันอยู่บ่อยๆ ว่า การที่คอมเมนเตเตอร์ผู้หนึ่งของ ซีเอ็นบีซี แสดงความเกรี้ยวกราดไม่พอใจทางสถานีโทรทัศน์ช่องที่เน้นหนักเรื่องการเงินและตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ ต่อแผนการของภาครัฐที่เข้าช่วยเหลือพวกกิจการเอกชนยักษ์ใหญ่ไม่ให้ล้มครืน พร้อมชักชวนให้มารวมตัวกันต่อต้านคัดค้าน คือเหตุการณ์ซึ่งจุดสายชนวนจนสว่างลุกโพลงกลายมาเป็นขบวนการ ที ปาร์ตี แห่งยุคสมัยปัจจุบัน) ไม่ช้าไม่นานต่อมา มันก็ได้กลายเป็นขบวนการซึ่งมีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับบทบาทของพรรครีพับลิกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของพรรคนี้ที่จะกลายเป็นพวกสายกลางและมีแนวคิดบันยะบันยังไม่สุดโต่ง โดยที่ความพยายามดังกล่าวมุ่งหมายที่จะตอบโต้ทางพรรคเดโมแครต ซึ่งกำลังกวาดคะแนนเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำ จากพวกผู้ออกเสียงทั้งที่เป็นฝ่ายเสรีนิยม และที่เป็นพวกเอนเอียงไปทางซ้าย (ครับ ถึงแม้ในสหรัฐฯ ผู้คนจะคิดกันว่าทั้งสองพวกนี้เหมือนๆ กัน แต่จริงๆ แล้วสองพวกนี้มีความแตกต่างกันอยู่)

วิกฤตที่ร้ายแรงถึงขั้นสั่นสะเทือนการดำรงคงอยู่ของพรรครีพับลิกันเช่นนี้ อาจจะทำให้พวกเดโมแครตตีปีกร้องไชโยลั่น แต่พวกเขาก็ดีอกดีใจกันไปไม่ได้นานหรอก เพราะสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเห็นกันได้โทนโท่ก็คือ ขบวนการที ปาร์ตี มุ่งมาดปรารถนาที่จะเห็น อเมริกาชนิดที่แตกต่างผิดแผกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เป็นอเมริกาที่จะปิดพรมแดนของตนไม่ต้อนรับผู้อพยพ เป็นอเมริกาที่การสอนวิชาวิทยาศาสตร์อาจจะมีแนวทางอันผิดเพี้ยนอย่างเดียวกับที่เป็นอยู่ในบรรดารัฐอาหรับ และเป็นอเมริกาที่ล้มเหลวมิได้มีการปรับปรุงยกระดับกำลังทหารของตนเอง

ในเรื่องหลังสุดนี้ มีเรื่องที่สร้างความประหลาดใจแม้แต่กับพวกผู้สังเกตการณ์ด้านกลาโหมที่มีประสบการณ์โชกโชนจำนวนมาก เกิดขึ้นมาเรื่องหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวคือ ความพยายามอย่างใหญ่โตมโหฬารของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่จะวิจัยพัฒนาเรือรบชายฝั่ง (littoral ship) ประเภทใหม่ที่มีราคาถูกและใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น ดูเหมือนกำลังประสบอุปสรรคสำคัญ จนกระทั่งต้องสั่งหยุดเดินหน้ากันชั่วคราวอย่างน่าอับอายทีเดียว ทั้งนี้เพราะเรือต้นแบบลำต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีข้อบกพร่องล้มเหลวทั้งในด้านการซ่อมบำรุงพื้นฐาน และการทดสอบการปฏิบัติการด้านต่างๆ อีกทั้งไม่สามารถแม้กระทั่งเข้าร่วมในการฝึกซ้อมฉันมิตร ดังที่ปรากฏให้เห็นในการฝึกแทบทุกอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่สิงคโปร์ ทั้งนี้ถ้าหากคุณยังคงสอนลูกหลานของคุณเรื่อยไปว่า ไดโนเสาร์ไม่เคยมีอยู่จริงๆ ในโลก (เพราะคัมภีร์ทางศาสนาที่คุณเชื่อถือศรัทธา ไม่มีการพูดถึง) พวกเขาเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นมา จำนวนมากทีเดียวน่าจะไม่สามารถคิดได้หรอกว่า ระบบขับดันแบบไอพ่นนั้น จะเอาชนะหางเสือเรือได้

แต่ที่เล่ามานี้เป็นการพูดนอกเรื่องออกไปจากสิ่งที่เป็นจุดสำคัญที่สุด ซึ่งก็คือว่า ขบวนการที ปาร์ตี นั้นมุ่งโฟกัสเน้นหนักไปที่การสนับสนุนให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงอย่าได้จ่ายเงินทำโครงการด้านสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งนี้ความบกพร่องล้มเหลวอย่างใหญ่โตของ “โอบามาแคร์” (Obamacare โครงการประกันสุขภาพให้ประชาชนอเมริกันทุกคน ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผลักดันอย่างเต็มที่และถือเป็นนโยบายเรื่องสำคัญที่สุดของเขา -ผู้แปล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเว็บไซต์รับจดทะเบียนของโครงการ ช่วยทำให้ขบวนการที ปาร์ตี มีเหตุผลความชอบธรรมที่แสดงจุดยืนต่อต้านคัดค้านการที่รัฐบาลทำตัวเจ้ากี้เจ้าการเที่ยวแทรกแซงบงการเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของชาวอเมริกัน (ทั้งนี้การที่รัฐบาลโอบามาเที่ยวบังคับให้ทุกๆ คนต้องเข้าเป็นสมาชิกของแผนประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ที ปาร์ตี บอกว่าไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องทำประกันสุขภาพถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ชาวอเมริกันต้องมีเสรีภาพที่จะตัดสินใจเลือกเอง –ผู้แปล)

ขณะที่ข้อโต้แย้งของ ที ปาร์ตี นั้นสมเหตุสมผลและถูกต้อง แต่การวาดภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับผิดพลาดไปในจุดที่สำคัญมากจุดหนึ่ง อันได้แก่เรื่องที่ว่าทำไมเว็บไซต์แห่งนี้จึงลงเอยด้วยความล้มเหลว เพราะสำหรับเรื่องนี้แล้ว จะต้องหันมาพิจารณาประเด็นว่าด้วย “อินซอร์สซิ่ง” (in-sourcing) ทั้งนี้ อินซอร์สซิ่งเป็นแผนการริเริ่มของรัฐบาลสหรัฐฯที่ได้รับการผลักดันด้วยความเห็นชอบร่วมกันจากทั้งฝ่ายพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน โดยมีจุดมุ่งหมายพื้นฐานที่จะสร้างงานขึ้นในอเมริกาเพื่อให้ชาวอเมริกันได้ทำ ข้อสรุปแกนกลางของแผนการริเริ่มนี้ก็คือ ต่อไปนี้พวกหน่วยงานรัฐบาลอเมริกันทั้งหลาย เมื่อจะเอางานด้านต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำเอง ไปว่าจ้างบริษัทภายนอกทำแทน (ซึ่งก็คือ “การเอาต์ซอร์ส” outsourcing) จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พวกบริษัทภายนอกที่มีกิจการหลักๆ อยู่นอกสหรัฐฯ

ทว่าช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายเช่นนี้ ทั้งในด้านระดับความรู้ความสามารถในการทำงาน และในเรื่องราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เป็นเรื่องแน่นอนเลยทีเดียวว่า เว็บไซต์ www.healthcare.gov ของแผนการโอบามาแคร์ จะต้องลงเอยด้วยความหายนะ แต่ลองสำรวจเจาะลึกเข้าไปในเอกสารอันมากมายมหาศาลเกี่ยวกับการโต้แย้งกันในหัวข้อนี้ดูเถอะ คุณจะไม่พบเลยว่ามีการระบุอ้างอิงใดๆ ด้วยแง่มุมแบบต่อต้านผู้อพยพ/ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ทั้งๆ ที่เบื้องลึกลงไปแล้วนี่คือแง่มุมสำคัญที่สุด ทว่ามันย่อมสร้างความอับอายขายหน้าให้แก่ทั้งพวกเดโมแครตและพวกรีพับลิกัน ดังนั้นจึงได้ถูกปล่อยปละละเลย แต่การปล่อยปละเช่นนี้ต้องถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ เพราะถ้าหากมีการอภิปรายถกเถียงกันในหัวข้อเช่นนี้แล้ว อย่างน้อยที่สุดเราจะสามารถกัดกร่อนเสาหลักเสาหนึ่งในหลักนโยบายในการรณรงค์ต่อสู้ของขบวนการที ปาร์ตี

ชาน อัคยา เป็นคอลัมนิสต์ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น