xs
xsm
sm
md
lg

“การเหยียดเชื้อชาติ” ขยายวงที่อิตาลีหลังผู้อพยพแห่เข้าแดนมะกะโรนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ตั้งแต่การส่งเสียงร้องเลียนแบบลิง และชูลูกโป่งรูปกล้วยใส่นักเตะผิวดำในสนามฟุตบอล ไปจนถึงการใช้คำพูดคุกคามรัฐมนตรีผิวสีคนแรกของประเทศ กระแสการเหยียดชาติที่กำลังปะทุขึ้นในอิตาลี ได้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างลึกซึ้งในประเทศที่ค่อนข้างใหม่ในเรื่องการรับผู้อพยพแห่งนี้

มีสถานการณ์การเหยียดเชื้อชาติที่น่าตกตะลึงเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เห็นได้ตั้งแต่พวกฮูลิแกนข้างสนามพากันโบกลูกโป่งรูปกล้วยเพื่อล้อเลียน มาริโอ บาโลเตลลี นักเตะดาวดังผิวดำ ไปจนถึงการด่าทอ และสบประมาท เซซิลี คเยงเก รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นพลเมืองอิตาเลียนที่เกิดในคองโก

คเยงเก ผู้ที่ยังคงปฏิเสธไม่อยากยอมรับว่าอิตาลีเป็นประเทศที่เหยียดเชื้อชาติ ถูกโจมตีด้วยถ้อยคำที่เจ็บแสบตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายน เธอถูกโห่ไล่ด้วยฉายาหยาบคายที่มีผู้ตั้งให้เธอ หรือถูกนำภาพใบหน้าของเธอไปตัดต่อเข้ากับภาพลำตัวของหญิงสาวชนเผ่าในแอฟริกาแล้วเผยแพร่ออนไลน์

“ทำไมไม่มีใครข่มขืนเธอนะ เธอจะได้เข้าใจเสียทีว่าบรรดาเหยื่อของฆาตกรโหดนั่นรู้สึกอย่างไร” สมาชิกของพรรคนอร์ทเทิร์นลีกที่ต่อต้านผู้อพยพของอิตาลีเขียนถึงเธอเมื่อเดือนที่ผ่านมาในเฟซบุ๊ก ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรองประธานวุฒิสภาก็เปรียบเทียบเธอกับอุรังอุตัง

รายแรกที่ใช้วาจาดูหมิ่นเธอถูกตัดสินให้รอลงอาญา 13 เดือน และถูกสั่งห้ามไม่ให้รับตำแหน่งทางการเมือง 3 ปี ขณะที่ โรเบอร์โต คาลเดโรลี รองประธานวุฒิสภา กำลังถูกสอบสวนในความผิดฐานปลุกปั่นให้เกิดกระแสความเกลียดชังคนต่างเชื้อชาติ แม้ว่าเขาจะออกมาปฏิเสธไม่ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยย้ำว่าการที่เขาส่งช่อดอกไม้ไปขออภัยคเยงเกนั้นเป็นสิ่งที่มากพอแล้ว
มาริโอ บาโลเทลลี นักฟุตบอลผิวสีดาวรุ่ง
สิ่งที่น่าแปลกก็คือ มีการสอบสวนเขาก็ต้องหลังจากสมาคมผู้บริโภค “คอนดาคอนส์” ส่งจดหมายร้องเรียน และแม้จะมีผู้ลงนามในคำร้องถึง 200,000 คนที่ต้องการให้คาลเดโรลีลงจากตำแหน่ง ทว่าสมาชิกในพรรคนอร์ทเทิร์นลีกของเขาก็ยังคงพยายามรักษาตำแหน่งอันมีเกียรติในวุฒิสภาของเขาต่อไป

“อิตาลีไม่ได้มีปัญหาการเหยียดเชื้อชาติมากไปกว่าชาติยุโรปอื่นๆ หรอก เพียงแต่ในประเทศของเรานั้นความรู้สึกอ่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้มีการพัฒนาน้อยกว่าที่อื่น” มาร์โก ฟอสซาติ นักประวัติศาสตร์ชาวอิตาลีกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

มิเชลา มาร์ซาโน นักปรัชญาและรองประธานพรรคเดโมเครติก ซึ่งเป็นพรรคกลางซ้าย (PD) ระบุว่า “เวลานี้อิตาลีเป็นประเทศที่รู้สึกอดทนอย่างยิ่งกับสิ่งที่ต้องไม่ควรยอมอดทนเลย”

“อิตาลีไม่ค่อยได้มีโอกาสติดต่อกับ “คนชาติอื่น” นัก เพราะเป็นประเทศที่มีผู้อพยพออกมากกว่าอพยพเข้า”

ทั้งนี้ ขณะที่ชาวอิตาลีหลายล้านคนหนีพิษเศรษฐกิจในประเทศไปอยู่ที่สหรัฐฯ ละตินอเมริกา และประเทศอื่นๆ ในยุโรปตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ประเทศในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้เพิ่งเผชิญกับผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง
เซซิลี คเยงเก รมว.กระทรวงตรวจคนเข้าเมือง
“เรายังคงมีความใจแคบกันอยู่มาก และถึงแม้การกระทำของคาลเดโรลีได้จุดชนวนให้เกิดความโกรธแค้น แต่ก็ยังไม่มีการลงมือทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาเลย” ฟอสเซติกล่าว อีกทั้งเสริมว่า “ใครก็ตามที่ตอบโต้ด้วยความโกรธเคืองมักจะถูกมองว่าทำตัวเป็นผู้มีศีลธรรม เป็นพวกที่ติดเชื้อไวรัส “ความชอบธรรมทางการเมือง”

ลุยจี มันโคนี ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิพลเมืองในวุฒิสภา เห็นว่า การเหยียดเชื้อชาติกลายเป็นพฤติกรรมที่ชอบธรรม ตั้งแต่ปี 2007 เมื่อมีหญิงอิตาลีคนหนึ่งถูกชายโรมาเนียข่มขืนในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเทศบาล ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้จุดประกายให้มีการรณรงค์ที่เปรียบเทียบชาวโรมาเนียว่าเป็นพวกบ้ากามนักข่มขืน

ตั้งแต่เหตุการณ์ในครั้งนั้น มันโคนีชี้ว่า พรรคนอร์ทเทิร์นลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาลเดโรลี ก็รู้สึกว่าตนมีสิทธิที่จะแสดงพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น และ “แสดงบทบาทสำคัญในการทำให้ความรังเกียจชาวต่างชาติเป็นสิ่งที่ชอบธรรม”

อย่างไรก็ตาม อาเดรียโน ปรอสเปอรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มหาวิทยาลัยปิซา ย้อนหลังไปไกลกว่านั้นโดยเปรียบเทียบอาการไม่ใส่ใจต่อการเหยียดเชื้อชาติของชาวอิตาลีในปัจจุบัน กับการนำเอากฎหมายการเหยียดเชื้อชาติมาใช้เมื่อปี 1938 ซึ่งก็ “ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมอิตาลี” เช่นกัน โดยในขณะนั้นแดนมะกะโรนีปกครองด้วยระบอบฟาสซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินี
กำลังโหลดความคิดเห็น