xs
xsm
sm
md
lg

‘กลุ่มการเมืองสายกลาง’ทั่วโลกกำลังใกล้สูญพันธุ์ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ชาน อัคยา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Centrist sinkholes
By Chan Akya
15/11/2013

เวลาผ่านไปหนึ่งร้อยปีแล้ว หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นปะทุขึ้นมา ทว่าในขณะนี้พวกผู้ออกเสียงในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนความคิดหันไปในทางนิยมกลุ่มการเมืองประหลาดๆ นอกแบบแผนกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการเทคะแนนสนับสนุนหนทางเลือกซึ่งเป็นอันตรายยิ่ง ส่วนในหมู่ชาติกำลังพัฒนา การปฏิวัติ “อาหรับสปริง” ที่ล้มเหลวในประเทศแล้วประเทศเล่าทางตะวันออกกลาง ตลอดจนกระบวนการสร้างสันติภาพที่ชะงักงันทั้งในอิหร่านและในปากีสถาน เหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่าความปั่นป่วนอลหม่านวุ่นวายไปทั่ว จะเป็นกระแสหลักที่ครอบงำการเมืองโลกในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**ยุโรปที่กำลังนิยมแนวความคิดแบบชายขอบนอกแบบแผนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ**

ชาวฝรั่งเศสนั้นเป็นคนดีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถึงแม้ฮอลลีวูดและสื่อภาษาอังกฤษในวงกว้าง จะได้พ่นสีตีตราพวกเขาว่าเป็นกลุ่มคนซึ่งเปรียบได้กับพวกตัวตลกโปกฮาทะลึ่งตึงตัง ผู้ซึ่งสาละวนสนใจอยู่แต่กับชีสและแฟชั่น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเมืองของพวกเขา หรือตลอดทั่วทั้งแดนน้ำหอม อัตลักษณ์ในแบบชาวฝรั่งเศสผู้แยกขาดระหว่างรัฐกับศาสนา (secular French identity) เป็นสิ่งที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือล้ำกว่าการแบ่งแยกในทางศาสนาหรือในทางเชื้อชาติ จึงเป็นการแผ้วถางทางให้แก่ผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางธุรกิจจำนวนหนึ่ง ให้สามารถก้าวผงาดขึ้นมาได้แม้จะมีรากเหง้ามาจากกลุ่มต่างๆ กันที่ผิดแผกกัน

แนวโน้มแบบแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันนี้ หลังจากที่สามารถดำรงคงอยู่ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา เวลานี้กำลังถูกคุกคามอย่างหนักหน่วง ในขณะที่ความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในทางเศรษฐกิจได้กัดกร่อนความเชื่อมั่นไว้วางใจของสาธารณชน ซึ่งมีต่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายชุดปัจจุบันที่นำโดยประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ หลังจากที่เพียงเมื่อ 1 ปีมานี้เอง ชาวฝรั่งเศสก็ได้เขี่ยทิ้ง นิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝ่ายขวาในขณะนั้น ด้วยความเอือมระอากับปมทางจิตวิทยาแบบนโปเลียน (Napoleonic complex) ของเขา และด้วยความเหม็นเบื่อสิ่งที่ดูจะเข้าเรื่องเข้าราวมากกว่า นั่นคือ การที่รัฐบาลของซาร์โกซีล้มเหลวไม่สามารถป้องกันวิกฤตของภาคการเงินได้

ในสภาวการณ์เช่นนี้เอง พรรคเนชั่นแนล ฟรอนต์ (National Front) พรรคแนวทางขวาจัดที่นำโดย มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) ก็ได้เติบใหญ่ขยายตัวจนกลายเป็นกลุ่มพลังที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องให้ความใส่ใจคำนึงถึง หลังจากที่พรรคนี้สามารถแย่งชิงผู้ออกเสียงจำนวนไม่ใช่น้อยๆ ที่เมื่อก่อนเคยหย่อนบัตรให้แก่พวกฝ่ายขวา ในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว เวลานี้ พรรคเนชั่นแนล ฟรอนต์ ของฝรั่งเศส จึงเข้าสมทบกับพวกพรรคการเมืองแนวทางชายขอบนอกแบบแผนอีกเป็นโขยงในประเทศต่างๆ ทั่วทั้งยุโรป ซึ่งในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สามารถก้าวผงาดขึ้นมามีฐานะเป็นผู้มีบทบาทกำหนดให้ฝ่ายใดได้เป็นรัฐบาล (king-maker) ถ้าหากยังไม่ถึงขั้นที่จะก้าวขึ้นเป็นรัฐบาลเสียเอง ทั้งนี้ในอังกฤษ พรรคยูคิป (UKIP ชื่อเต็มๆ คือ UK Independence Party เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางประชานิยมฝ่ายขวา ซึ่งหลักนโยบายสำคัญที่สุดคือการเรียกร้องให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป พรรคนี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1993 –ผู้แปล) คือตัวอย่างหนึ่งของพรรคชายขอบนอกแบบแผนเหล่านี้ นอกจากนั้นแล้วยังมีพรรคการเมืองทำนองนี้ทั้งในสวีเดน, ออสเตรีย, อิตาลี, และกรีซ ซึ่งทั้งหมดต่างกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้างตัวเองให้กลายเป็นพรรคการเมืองซึ่งมีฐานะเป็นที่ยอมรับและฝ่ายต่างๆ ต้องคำนึงถึง

ในทุกๆ ประเทศเหล่านี้ ผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ตลอดจนการที่คนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นต่อต้านคัดค้านฉันทามติของพวกนักการเมืองที่ทำตัวไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว และบ่อยครั้งถูกมองว่ายอมสยบก้มหัวให้แก่ความคิดเพ้อฝันประหลาดๆ ของพวกนักการเมืองเยอรมัน คือ 2 สาเหตุสำคัญที่สุดซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวช่วยขับดันให้พวกผู้ออกเสียงที่ธรรมดาแล้วเป็นพวกนิยมแนวทางสายกลาง ให้หันไปหาทางหนทางเลือกอื่นๆ ดูบ้าง

มีความเป็นไปได้ทีเดียวว่า หากจะเกิดมีประธานาธิบดี เลอ เปน ขึ้นในฝรั่งเศส หรือนายกรัฐมนตรี ไนเจล ฟารัจ (Nigel Farage หัวหน้าพรรคยูคิปคนปัจจุบัน) ขึ้นมาในอังกฤษ มันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ้นทุกอย่างจะจบสิ้นลงในความวิบัติหายนะ เหมือนอย่างที่ เลอ เปน หรือ ฟารัจ ในตอนที่เป็นนักการเมืองธรรมดาๆ เวลานี้ อาจจะก่อให้เกิดความประทับใจเช่นนั้นขึ้นมา (อันที่จริงแล้ว เรามีตัวอย่างที่ดีหลายๆ ตัวอย่างมาแล้วก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่ากรณีของ ประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา Lula da Silva แห่งบราซิล) อย่างไรก็ดี ปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ในทางบวก เป็นตัวช่วยอย่างมากในการขัดเกลาบันยะบันยังการเมืองแบบบ้าคลั่งของประธานาธิบดี ลูลา ในตอนนั้น ขณะที่ในเวลานี้ปัจจัยบวกเหล่านี้ไม่มีอยู่เอาเลยในยุโรป แถมยังไม่เห็นร่องรอยว่าจะสามารถกลับปรากฏขึ้นมาใหม่อีกในเร็ววันนี้

คล้ายๆ กับสุนัขที่กำลังเที่ยววิ่งไล่ขับหางตัวเอง ในไม่ช้าไม่นานนักพวกผู้เสียภาษีชาวยุโรปจะรู้สึกเบื่อหน่ายที่ด้านหนึ่งต้องเผชิญกับมาตรการเข้มงวดรุนแรงทางเศรษฐกิจ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องประสบกับบริการสาธารณะที่กำลังผุพังหลุดออกเป็นชิ้นๆ ทั้งหมดเหล่านี้ดำเนินไปในนามของการพยายามประคับประคองสกุลเงินตรา “ยูโร” และประคับประคองความสามัคคีเป็นเอกภาพของยุโรปเอาไว้ โดยผ่านระบบราชการอันไม่น่าไว้วางใจของสหภาพยุโรปซึ่งตั้งที่ทำการอยู่ในกรุงบรัสเซลส์

ในขณะที่เรากำลังย่างก้าวเข้าใกล้วาระครบรอบ 100 ปีของสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวที่ยุโรปในทุกวันนี้ อยู่ในสภาพปั่นป่วนอลหม่านวุ่นวายเฉกเช่นที่ทวีปนี้เคยเป็นมาในปี 1913 และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เหตุการณ์ใหญ่ใดๆ ก็ตามที อาจจุดชนวนให้เหตุการณ์อื่นๆ เคลื่อนไหวติดตามมาอย่างชนิดที่ไม่มีใครเลยสามารถควบคุมได้ ข่าวที่อาจจะจัดเป็นข่าว “ดี” เพียงประการเดียวก็คือ ในเรื่องของการเข้าสู้รบทำศึกสงครามกันในทางกายภาพแล้ว ยุโรปทุกวันนี้อยู่ในสภาพที่ห่างไกลนักจากอดีต ทั้งนี้ก่อนอื่นใดเลย เวลานี้ไม่ได้มีกองทัพใหญ่คุมเชิงตั้งประจันหน้ากันอยู่ในทวีปนี้

**จาก “อาหรับสปริง” กลายเป็น “ฤดูหนาวอันยะเยือก”**

กระแสอาหรับสปริง หรือฤดูใบไม้ผลแห่งโลกอาหรับ ได้ปิดฉากจบสิ้นลงแล้ว และพวกอิงศาสนาเคร่งจารีตได้เข้าแทนที่กลายเป็นตัวแสดงเอกทั้งบนเวทีและนอกเวที อยู่เป็นจุดๆ ที่นี่บ้างที่นั่นบ้าง นี่คือคำอธิบายอย่างเอื้ออารีที่สุดที่เราจะให้ได้ สำหรับกระแสการเบ่งบานของประชาธิปไตยในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งจุดชนวนขึ้นจากการที่พ่อค้าเร่ขายผลไม้ชาวตูนิเซียผู้หนึ่ง ตัดสินใจประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐบาลด้วยการเผาตัวตาย

อียิปต์นั้นได้กลายเป็นโปสเตอร์ซึ่งแสดงถึงการปฏิวัติที่ล้มเหลวไปแล้ว ในเมื่อขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยใหม่ๆ หมาดๆ ต้องปิดฉากลงไป ทั้งนี้ในระหว่างที่พวกเขาครองอำนาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ นั้น ขบวนการนี้ได้สร้างความผิดหวังเป็นอย่างมาก ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากระบอบปกครองฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) ซึ่งพวกเขาเข้าแทนที่โดยผ่านการเลือกตั้งภายหลังเกิดการปฏิวัติของประชาชนในกรุงไคโร ทั้งภาวะเงินเฟ้อและทั้งการพังครืนของความเชื่อมั่นของนักลงทุน กลายเป็นชนวนทำให้เกิดเงินทุนไหลออกอย่างทะลักทลาย ซึ่งไม่นานนักก็บดขยี้ทำลายความหวังทั้งหลายทั้งปวงที่เศรษฐกิจจะกลับกระเตื้องฟื้นตัวขึ้นมาได้

ยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวยังคงพากันถอยห่างจากแดนไอยคุปต์ (พวกเขาย่อมต้องทำเช่นนี้แน่นอน ในทันทีที่คุณเริ่มต้นยิงแบบเดาสุ่มใส่พวกเขา) มันก็ยิ่งเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังจะพังครืน กองทัพเวลานี้กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง และกำลังขับไสปราบปรามกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างคึกคัก ทว่าพร้อมๆ กันนั้นก็ดูเหมือนกับหลงลืมกฎเกณฑ์พื้นฐานบางประการของการบริหารจัดการเศรษฐกิจไปเสียฉิบ

สำหรับบาห์เรน ยังคงต้องลุ้นด้วยความระทึกขวัญกันต่อไป ทว่าพวกชิอะห์ของรัฐเล็กๆ แห่งนี้กำลังถูกบดขยี้ภายใต้การกดขี่ของพวกอันธพาลที่นำเข้าจากประเทศอย่างจอร์แดนและปากีสถาน โดยที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ สภาวการณ์เช่นนี้บังเกิดขึ้นเนื่องจากราชวงศ์ซาอุด (House of Saud) หวาดผวาว่าอาจจะเกิดการปฏิวัติของพวกชิอะห์ขึ้นในแถบพื้นที่เมืองอัล-โคบาร์ (Al-Khobar) ที่ร่ำรวยด้วยน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเอง ดินแดนดังกล่าวตั้งอยู่ประชิดกับบาห์เรน โดยที่มีเพียงช่องแคบเล็กๆ คั่นเอาไว้เท่านั้น

ประเทศอื่นๆ ตั้งแต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปจนกระทั่งถึง กาตาร์ ต่างพากันประณามหยามเหยียดแนวโน้มมุ่งสู่ประชาธิปไตยที่ปรากฏขึ้นในประเทศของพวกเขา ทว่าโชคร้ายที่การกระทำเช่นนั้นย่อมเท่ากับการผลักไสชาวอาหรับสายกลางซึ่งเพียงปรารถนาให้มีรัฐบาลที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ต้องโผตัวเข้าไปอยู่ในอุ้งมือที่เฝ้ารอคอยอยู่แล้วของกลุ่มอิงศาสนาเคร่งจารีตทั้งหลาย

ทางด้านซีเรียนั้น กำลังเป็นตัวแทนของภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด ต่อสันติภาพในตะวันออกกลาง (ดูเรื่อง Lousy Game Theory in Syria, Asia Times Online, September 4, 2013) เวลานี้พวกมหาอำนาจตะวันตกยังคงระงับยับยั้งจากการเข้าไปแทรกแซงโดยตรงในสงครามกลางเมืองในประเทศนั้น (ซึ่งในความคิดเห็นของผมแล้ว นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดหลักแหลม) และดังนั้นจึงกำลังเปิดที่โล่งกว้างให้การทำศึกระหว่างกองกำลังฝ่ายนิยมระบอบปกครองบาชาร์ อัล-อัสซาด กับกองกำลังที่ครอบงำโดยอัลกออิดะห์

ทั้งภายในฝ่ายสนับสนุนระบอบปกครอง และภายในฝ่ายต่อต้านคัดค้านระบอบปกครองของซีเรีย ต่างก็มีความขัดแย้งอยู่มากมายเหลือเกิน จนมีบางคนจินตนาการไปว่า สงครามที่เกิดขึ้นในประเทศนี้โดยรวม แท้ที่จริงแล้วอุปถัมภ์โดยพวกบริษัทผลิตอาวุธของตะวันตกและของจีน ซึ่งกำลังพยายามที่จะนำเอาอาวุธอันล้าสมัยของพวกเขาที่ยังขายไม่ออกต้องเก็บอยู่ในสต็อก ออกมาใช้ให้หมดสิ้นไปเสียที

“ฤดูหนาวอันเย็นยะเยือก” จากการเติบใหญ่ของพวกอิงศาสนาเคร่งจารีต ยังปรากฏให้เห็นในสถานที่อื่นๆ ใกล้ๆ ตะวันออกกลางอีกด้วย อันดับแรกเลยคือในอิหร่าน ที่ซึ่งการเจรจาด้านนิวเคลียร์ที่ทำท่าว่าอาจผ่าทางตันได้เสียที กลับมีอันถูกโยนทิ้งไป สืบเนื่องจากความหัวรั้นไม่ยอมประนีประนอมของฝรั่งเศส (นี่ก็อีกแล้ว เป็นผลสะเทือนจากพวกกลุ่มชายขอบนอกแบบแผนที่กำลังคุกคามผลประโยชน์อันสมเหตุสมผลของรัฐบาลฝรั่งเศส ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่แท้จริงของฝรั่งเศสควรที่จะอยู่ในทิศทางของการเอื้ออำนวยให้การเจรจาทำข้อตกลงกับอิหร่านประสบผลสำเร็จ เพื่อผูกมัดอิหร่านให้ถอยห่างออกจากเส้นทางสร้างอาวุธนิวเคลียร์)

สำหรับอันดับถัดมา ก็คือปากีสถาน ที่ซึ่งกระบวนการเจรจาสันติภาพอันยังไร้ความแน่นอนระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มตอลิบานปากีสถาน (Pakistani Taliban) ต้องถูกโยนทิ้งไป ภายหลังการสังหารผู้นำตอลิบานปากีสถาน ฮากิมุลเลาะห์ เมห์ซุด (Hakimullah Mehsud) โดยฝีมือของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (กรณีนี้เช่นเดียวกัน ดูเหมือนจะเป็นฝีมือของกลุ่มชายขอบนอกแบบแผนในฝ่ายทหารของอเมริกา ซึ่งปฏิบัติการโดยไม่ยอมฟังเสียงที่มีเหตุผลมากกว่าในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ)

เราย่อมสามารถมองเห็น “มือ” ของซาอุดีอาระเบียได้อย่างชัดเจนในเหตุการณ์เหล่านี้ทั้งในกรณีของอิหร่านและของปากีสถาน และเรื่องนี้เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า การที่พวกผู้นำเฉกเช่นเจ้าชายบันดาร์ บิน สุลต่าน (Prince Bandar bin Sultan) แห่งราชวงศ์ซาอุด ผละออกจากเงามืดเพื่อทุ่มเดิมพันให้แก่การอ้างสิทธิ์ของพวกเขาเหนือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พวกเขาก็ยินดีที่จะนำเอากระบวนการสร้างสันติภาพในวงกว้างเข้ามาเสี่ยงภัยด้วย

**ผ้าม่านลายดอกที่มีรูโหว่**

เมื่อนำเอาแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้มาเรียงร้อยต่อกันเป็นแผ่นผืน สิ่งที่คุณจะได้ออกมา ก็เป็นเสมือนผ้าม่านแขวนผนังลายดอกที่เกิดจากการนำเอาเศษผ้าชิ้นเล็กๆ มาเรียงเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ครอบคลุมไปทั่วโลก โดยที่ผ้าม่านทางการเมืองผืนมหึมาซึ่งเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายผืนนี้มีรูโหว่อยู่ตรงกลาง เวลานี้ไม่ว่าที่ไหนก็ไม่มีพวกสายกลางเลย ทุกๆ ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจหรือน่าที่จะได้เข้าไปมีอำนาจ (ดังนั้นจึงเป็นพวกที่กำลังกดดันผู้ที่ครองอำนาจอยู่ในตอนนี้) ต่างดูเหมือนกำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของพวกชายขอบนอกแบบแผน

บทสรุปเช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า การเตรียมตัวเพื่อเดินผ่านไปในท่ามกลางความปั่นป่วนอลหม่านวุ่นวาย คือจังหวะก้าวอันสมเหตุสมผลแต่เพียงประการเดียวสำหรับการเมืองโลก

ชาน อัคยา เป็นคอลัมนิสต์ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น