xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: นักวิทย์เตือน “ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน” ซัดถล่มปินส์คือสัญญาณร้ายจาก “โลกร้อน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพบ้านเมืองฟิลิปปินส์ที่เสียหายยับเยินจากอานุภาพของ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน” สร้างความตื่นตระหนกและเป็นที่สลดใจแก่ผู้คนทั่วโลกที่ได้พบเห็น ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศเตือนว่าพายุหมุนที่มีความรุนแรงมหาศาลอย่างไห่เยี่ยนอาจเป็นปรากฏการณ์ที่โลกจะต้องประสบพบเจอบ่อยขึ้น หากปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศยังคงสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (Haiyan) ซึ่งพัดขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน นำเอาคลื่นสูงถึง 13 ฟุตและลมกระโชกรุนแรงพัดกวาดย่านพักอาศัยของเมืองใหญ่และเมืองเล็กเมืองน้อยหลายแห่งในบริเวณภาคกลางของฟิลิปปินส์จนราบไปทั้งเมือง ทิ้งซากศพผู้เสียชีวิตเหลือคณานับกระจัดกระจายไปตามผืนดินที่กลายเป็นแดนร้าง ชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ อยู่ในสภาพสิ้นหวัง และขาดไร้ทั้งอาหาร น้ำ และยารักษาโรค

ทางการฟิลิปปินส์ประเมินว่า เฉพาะที่จังหวัดเลย์เตเพียงจังหวัดเดียวก็น่าจะมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ทำให้ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนซึ่งเป็นไต้ฝุ่นลูกที่ 24 ที่ซัดถล่มฟิลิปปินส์ในปีนี้ กลายเป็นมหาวาตภัยที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองตากาล็อก โดยสถิติก่อนหน้านี้เป็นของไต้ฝุ่นเทลมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 5,100 คนทางตอนกลางของประเทศเมื่อปี 1991 และแผ่นดินไหวระดับ 7.9 ในปี 1976 ที่ทำให้เกิดสึนามิในอ่าวโมโรทางตอนใต้ของประเทศ และคร่าชีวิตพลเมือง 5,791 คน

จำนวนผู้สูญหายเบื้องต้นที่สภากาชาดฟิลิปปินส์ประเมินไว้อยู่ที่ราวๆ 22,000 คน โดย เกว็นโดลีน ปัง เลขาธิการสภากาชาดฟิลิปปินส์ชี้ว่า อาจหมายรวมถึงผู้สูญหายที่หาตัวพบแล้วด้วย เพราะชาวบ้านที่เข้ามาร้องเรียนคนหายมักไม่ย้อนกลับมาแจ้งเมื่อหาตัวญาติพบ ขณะที่องค์การสหประชาชาติระบุว่า มีชาวฟิลิปปินส์ต้องพลัดถิ่นฐานเพราะไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนราวๆ 670,0000 คน และส่วนใหญ่ยังคงปราศจากทั้งยา, อาหาร และน้ำดื่มประทังชีวิต

ประธานาธิบดี อากิโน ได้ประกาศภาวะภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมส่งทหารหลายร้อยนายลงพื้นที่เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย หลังมีข่าวการปล้นสะดมร้านค้าภายในเมืองตาโกลบัน ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นถึง 220,000 คน แต่เวลานี้เสียหายย่อยยับแทบไม่ต่างไปจากเมืองขยะ

“ไห่เยี่ยน” ผลพวงจากโลกร้อน?

กระแสลมจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนขณะขึ้นบกที่เกาะซามาร์ (Samar) นั้นอยู่ที่ราวๆ 314 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้ไต้ฝุ่นลูกนี้มีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ยิ่งกว่าเฮอริเคน “คามิลล์” ซึ่งซัดถล่มรัฐมิสซิสซิปปีของสหรัฐฯในปี 1969

ศาสตราจารย์ วิล สเตฟเฟน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรไม่แสวงผลกำไร Climate Council ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าสภาพอากาศโลกที่ร้อนและชื้นขึ้นมีผลต่อระดับความรุนแรงของพายุ เช่น ไห่เยี่ยน

“เมื่อพายุก่อตัวขึ้น มันจะได้รับพลังงานส่วนใหญ่จากพื้นผิวมหาสมุทร... เราก็ทราบกันดีว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งนั่นก็คือผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อการเกิดพายุ”

ข้อมูลจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ (NOAA) ชี้ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลนอกชายฝั่งตะวันออกของฟิลิปปินส์สูงกว่าระดับปกติราว 0.5-1 องศาเซลเซียสขณะที่ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนเริ่มก่อตัว และเมื่อไต้ฝุ่นทวีกำลังแรงเต็มที่ อุณหภูมิของน้ำก็เริ่มลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ “ดูดซับพลังงาน” ของพายุลูกนี้

ไต้ฝุ่น หรือ เฮอริเคน จะก่อตัวขึ้นต่อเมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง 26.5 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย และบริเวณความกดอากาศต่ำอาจจะคงอยู่เช่นนั้นอีกระยะหนึ่ง แม้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลจะเริ่มลดลงก็ตาม

เควิน วอลช์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นซึ่งเชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเขตร้อน อธิบายว่า อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่จะใช้อธิบายการเกิดของพายุหมุน แต่ปัจจัยสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิน้ำทะเล กับอุณหภูมิในบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ซึ่งอยู่เหนือตัวพายุขึ้นไป

ดร.วอลช์ ชี้ว่า ความแตกต่างของอุณหภูมิในตัวพายุมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พายุยกตัวสูงขึ้นไปในบรรยากาศชั้นบน

“ในอนาคตเราจะต้องมาพูดกันถึงความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล กับอุณหภูมิของบรรยากาศในชั้นโทรโพสเฟียร์ ซึ่งช่องว่างมันจะห่างขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์จะเริ่มอุ่นขึ้นจากปัญหาโลกร้อนก็ตาม”

การขาดแคลนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อนทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้พายุมีความรุนแรงขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience เมื่อปี 2010 ได้เอ่ยถึงโมเดลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งบ่งบอกว่า พายุหมุนเขตร้อนมีแนวโน้มจะเกิดน้อยลงในอนาคต ทว่า “อานุภาพทำลายล้าง” ของมันจะร้ายแรงขึ้นกว่าปัจจุบัน

“โมเดลการศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่า อัตราการเกิดของพายุหมุนเขตร้อนทั่วโลกจะลดลงประมาณ 6-34%... แต่พายุที่มีความรุนแรงจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น และมีหยาดน้ำฟ้า (precipitation rate) ภายในรัศมี 100 กิโลเมตรจากศูนย์กลาง เพิ่มขึ้นราวๆ 20%” รายงานดังกล่าวเผย

ดร.สเตฟเฟน ชี้ว่า อานุภาพทำลายล้างของไต้ฝุ่นส่วนใหญ่จะเกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) และในขณะที่ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ความเสี่ยงที่น้ำทะเลจะไหลเข้าท่วมชุมชนชายฝั่งเวลาเกิดพายุจึงมากตามไปด้วย

บทเรียนราคาแพงจากฟิลิปปินส์ครั้งนี้คงจะทำให้ทุกชาติต้องหันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ได้กระทำต่อธรรมชาตินั้นอาจจะย้อนกลับมาหาเราในรูปแบบของ “ภัยพิบัติ” ที่ร้ายแรงเกินคาด



กำลังโหลดความคิดเห็น