xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟิลิปปินส์’เตรียมตัวน้อยเกินไปสำหรับรับภัยพิบัติใหญ่

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Little preparation for a big disaster
By Richard Javad Heydarian
13/11/2013

ไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” ทำให้ชุมชนหลายแห่งและพื้นที่แถบชายฝั่งหลายบริเวณ ในหมู่เกาะวิซายาส ทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ อยู่ในสภาพพินาศย่อยยับ พวกที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโต้แย้งโดยยกตัวอย่างมาตรการอย่างเช่น การบังคับให้ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่ความเสี่ยงสูงต้องอพยพโยกย้ายไปยังที่ปลอดภัย หรือการสร้างบังเกอร์คอนกรีตแข็งแรงที่สามารถต้านทานแรงมหาพายุได้ มาชี้ให้เห็นว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ อีกซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์มิได้นำมาดำเนินการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติขนาดยักษ์เช่นนี้

มะนิลา – ถึงแม้รัฐบาลได้ประกาศเตือนภัยล่วงหน้า รวมทั้งอพยพประชาชนจำนวนมากถึง 800,000 คนออกไปจากอาณาบริเวณที่ไม่ค่อยปลอดภัย ทว่าไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” (Haiyan หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เองเรียกชื่อว่า “โยลันดา” Yolanda) ซึ่งมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 5 อันเป็นระดับสูงสุด ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้ชุมชนหลายแห่งและพื้นที่แถบชายฝั่งหลายบริเวณ ในหมู่เกาะวิซายาส (Visayas) ทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ อยู่ในสภาพพินาศย่อยยับ

ไห่เยี่ยน ซึ่งถูกระบุอ้างอิงกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกที่มีกำลังรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้พัดขึ้นบกที่ฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงแม้มีพลังอ่อนตัวลงบ้างแล้วหากเปรียบเทียบกับตอนอยู่กลางทะเล แต่มันก็ยังคงคร่าชีวิตผู้คนนับพันนับหมื่น และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสาหัสสากรรจ์ให้แก่แดนตากาล็อก

ตามการประมาณการเบื้องต้นของบางฝ่าย ผู้คนที่สูญเสียชีวิตน่าจะมีจำนวนสูงถึงระดับ 10,000 คน โดยที่เมืองตาโกลบาน (Tacloban) เมืองเอกของจังหวัดเลย์เต (Leyte) ได้รับความเสียหายยับเยินที่สุดจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นลูกนี้ นอกจากนั้นแล้วยังมีประชาชนอีก 600,000 คนที่ตกอยู่ในสภาพพลัดที่นาคาที่อยู่ ทั้งนี้ตามการประเมินสถานการณ์ของสหประชาชาติ

ในชั่วโมงแรกๆ ที่ไต้ฝุ่นลูกนี้พัดขึ้นบก รายงานข่าวที่ปรากฏออกมาอย่างกะพร่องกะแพร่งเผยให้เห็นภาพคร่าวๆ เกี่ยวกับฤทธิ์เดชอันน่าพรั่นพรึงของพายุ ทว่ายังมีชุมชนจำนวนมากทีเดียวซึ่งพวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานช่วยเหลือต่างๆ ไม่สามารถติดต่อเข้าถึงได้แม้กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปหลายวันแล้ว

สภาวการณ์เช่นนี้หมายความว่า มีประชาชนอีกนับหมื่นนับแสนคนถูกทอดทิ้งไม่ได้รับสิ่งของจำเป็นพื้นฐานใดๆ ในช่วงเวลาหลายชั่วโมงหลายวันภายหลังเผชิญความสูญเสีย ท่ามกลางเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนที่ยังคงลอยปกคลุมพื้นที่จำนวนมากซึ่งประสบภัยพิบัติและอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที

เวลาผ่านไปเกือบ 1 วันภายหลังพายุลูกนี้พัดขึ้นบก สำนักงานของยูเอ็นในกรุงมะนิลาก็ตีระฆังเตือนภัยดังสนั่น ด้วยการบอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg News) ว่า มีพื้นที่หลายแห่งซึ่ง “ยังคงถูกตัดขาดจากการปฏิบัติการกู้ภัยบรรเทาทุกข์” โดยที่บริเวณเหล่านั้นน่าจะมี “ผู้รอดชีวิตจำนวนเท่าใดยังไม่ทราบ กำลังขาดแคลนสิ่งของจำเป็นพื้นฐานต่างๆ” ทั้งนี้สืบเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง ได้ถูกฤทธิ์เดชของไต้ฝุ่นทำลายเสียหายอย่างหนักหน่วงมโหฬาร

“ในช่วงเวลาไม่กี่วันต่อจากนี้ไป โปรดมั่นใจได้เลยว่า ความช่วยเหลือจะมาถึงพวกคุณเร็วขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อยๆ” ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ประกาศเช่นนี้ภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัย และพยายามที่จะปลอบโยนสร้างความมั่นใจให้แก่พลเมืองผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนจำนวนนับหมื่นนับแสนคน ซึ่งต้องการทั้งสิ่งของบรรเทาทุกข์และความมั่นคงปลอดภัยขั้นพื้นฐาน “การจัดส่งอาหาร, น้ำ, และยา ไปยังบรรดาพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนหนักหน่วงที่สุด คือเรื่องเร่งด่วนกว่าเพื่อนในการจัดลำดับความสำคัญของเรา”

หลายชั่วโมงผันผ่านไปภายหลังพายุถล่ม พวกสื่อมวลชนท้องถิ่นเสนอรายงานข่าวที่วาดภาพกว้างๆ ของความสิ้นหวังและความตื่นตระหนก โดยที่ประชาชนจำนวนมากพยายามเสาะหาสิ่งของพื้นฐานในการดำรงชีวิตในทุกๆ สถานที่ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าไปค้นหาได้ กินเวลานานพอสมควรทีเดียวกว่าที่รัฐบาลจะสามารถจัดส่งกองทหารและบุคลากรอื่นๆ เข้าไปจัดระเบียบการแจกจ่ายความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และสร้างหย่อมเล็กๆ แห่งความมีระเบียบและความมั่นคงขึ้นมาในบริเวณต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายอย่างยับเยิน

กองทัพฟิลิปปินส์จัดส่งเครื่องบินขนส่ง ซี-130 จำนวน 4 ลำเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยเหล่านี้ โดยที่เครื่องบินเดินทางเข้าไปได้เฉพาะในช่วงกลางวันที่มีแสงอาทิตย์สาดส่องเท่านั้น เนื่องจากกลางคืนยังคงมีแต่ความมืดมิด เพราะระบบจ่ายไฟฟ้าในบริเวณเหล่านี้เสียหายใช้การไม่ได้ ขณะที่ในเมืองตาโกลบาน ซึ่งเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ซึ่งได้รับความเสียหายหนักหน่วงที่สุดนั้น กองทัพได้จัดส่งกำลังทหาร 1 กองร้อยจำนวน 250 คนเข้าไป

“เรากำลังจัดส่งทั้งยา, ข้าวของบรรเทาทุกข์, ทีมงานตอบโต้ฉุกเฉิน, ตลอดจนพวกเต็นท์, เครื่องปั่นไฟ, อุปกรณ์สื่อสาร, และน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไป” โฆษกกองทัพ พ.อ.มิเกล โอโคล (Miguel Okol) แถลงต่อผู้สื่อข่าว โดยที่เน้นย้ำว่ากองทัพมีภารกิจสำคัญทั้งในด้านการปฏิบัติการบรรเทาทุกข์และการสร้างความสงบเรียบร้อยขึ้นมาใหม่ภายหลังภาวะวิกฤต “แต่สิ่งที่ถือเป็นความสำคัญลำดับต้นของเราในขณะนี้ก็คือ การจัดส่งหน่วยรักษาความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งก็คือกำลังตำรวจแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ไปจัดการกับความรุนแรง (ตามที่มีรายงานส่งออกมา)”

รายงานดังกล่าวบ่งบอกให้เห็นว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากไต้ฝุ่นลูกนี้ มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางเหลือเกิน จนพวกผู้รับผิดชอบระดับท้องถิ่นแบกรับไม่ไหว ขณะที่รัฐบาลส่วนกลางนั้น ยังคงประสบปัญหาในความพยายามที่จะติดต่อสื่อสารกับพวกพื้นที่ประสบภัย อย่างน้อยที่สุดก็ในระยะเวลาถัดมาจากช่วงแห่งการแสดงฤทธิ์เดชของพายุ

พลังอันมหาศาลของไห่เยี่ยน ได้ทำลายย่อยยับทั้งสนามบินแห่งต่างๆ, ถนนหนทาง, โครงข่ายสายไฟฟ้า, และโครงข่ายสายโทรศัพท์ ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ จะสามารถติดต่อประสานงานกันได้อย่างเต็มที่ และทำให้พื้นที่ประสบภัยบางแห่งถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง – ในช่วงเวลาที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด

ประมาณกันว่ามีประชาชนถึง 9.5 ล้านคนที่ได้รับความกระทบกระเทือน ขณะที่บ้านเรือน 20,000 หลังพังพินาศ, สนามบิน 4 แห่งถูกปิด, โดยที่ยอดรวมมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนนี้ คาดกันว่าอาจจะสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (UN World Food Program) ก็ออกมาแถลงว่ามีผู้คนที่อาจจะมากถึง 2.5 ล้านคนทีเดียว จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินเร่งด่วน

รัฐบาลฟิลิปปินส์เองได้ออกมารับมือกับสถานการณ์ โดยประกาศว่ากำลังนำเอางบกลางรายการสำรองจ่าย ออกมาเป็นจำนวน 533 ล้านดอลลาร์ในเบื้องต้น เพื่อไว้ใช้จ่ายในการปฏิบัติการบรรเทาทุกข์เร่งด่วน ตลอดจนในการฟื้นฟูบูรณะต่างๆ

ที่เมืองตาโกลบาน กรมโยธาธิการและทางหลวง (Department of Public Works and Highways) ได้ร้องขอที่ดินประมาณ 100 เฮกตาร์ (ราว 625 ไร่) เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับประชาชนราว 45,000 ครอบครัว ปรากฏว่านับจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน ทางกรมได้รับที่ดินจากรัฐบาลท้องถิ่นประมาณ 300 เฮกตาร์แล้ว

ในเวลาเดียวกัน การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority) แถลงว่ามีข้าวสารเป็นจำนวนมากถึง 3 ล้านกระสอบเตรียมไว้แล้วสำหรับใช้แจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัย ทว่าพวกเจ้าหน้าที่แสดงความวิตกกังวลว่า ยังมีปัญหาหนักในเรื่องการนำเอาข้าวสารเหล่านี้มาแบ่งบรรจุเป็นถุงย่อมๆ ตลอดจนวิธีที่จะขนส่งข้าวเหล่านี้ไปยังพื้นที่ประสบภัย

พวกผู้เชี่ยวชาญหลายราย เป็นต้นว่า จาง เฉียง (Zhang Qiang) ผู้ชำนาญการด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูปักกิ่ง (Beijing Normal University) พยายามออกมาเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่มีพลังฤทธิ์เดชรุนแรงเช่นนี้ ถึงอย่างไรก็จะสร้างความเสียหายย่อยยับให้แก่พื้นที่ต่างๆ เป็นบริเวณกว้างขวางอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่ว่าจะมีการเตรียมตัวรับมือล่วงหน้ากันขนาดไหน โดยเขาชี้ว่า “บางครั้ง ไม่ว่าคุณจะเตรียมตัวเอาไว้มากมายขนาดไหน ไม่ว่าคุณจะเตรียมรับมือเอาไว้อย่างเต็มที่แค่ไหน แต่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมันก็ยังใหญ่โตเกินกว่าที่เตรียมรับมือไว้อยู่ดี”

สำหรับฟิลิปปินส์นั้น ถึงแม้ในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ นี้มีอัตราเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอันน่าประทับใจ โดยที่ได้มีการคาดการณ์กันเอาไว้ก่อนหน้านี้ในปีนี้ว่า ปี 2013 นี้แดนตากาล็อกจะเติบโตได้ในอัตรา 7% ทีเดียว ทว่าในเรื่องการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นทั้งหลาย ยังถือว่าค่อนข้างน้อยอยู่ ถนนหนทางนับพันๆ สาย และสะพานมากมาย ต่างอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาและปรับปรุงซ่อมแซม ขณะเดียวกัน พื้นที่จำนวนมากในเขตชนบทยังคงไม่ได้มีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างชนิดที่จะไม่ติดๆ ดับๆ อยู่เป็นประจำ และขาดไร้เส้นทางคมนาคมที่จะเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่ได้อย่างสะดวกทุกฤดูกาล

คณะรัฐบาลประธานาธิบดีอากีโนได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนสิบกว่าโครงการ ซึ่งภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะจับมือเป็นหุ้นส่วนกัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจและปรับปรุงยกระดับความสามารถของประเทศชาติในการรับมือภัยธรรมชาติต่างๆ ทว่าโครงการเหล่านี้จะยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นจนกว่าจะถึงปี 2015

ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจัยทางด้านความไม่แน่นอนในเรื่องตัวบทกฎหมาย, ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชั่น, และการบริหารจัดการอันผิดพลาด ก็ได้ทำให้พื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะพวกที่อยู่นอกศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมในเกาะลูซอน (Luzon) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ยังคงอยู่ในสภาพขาดไร้โครงสร้างพื้นฐานจำเป็นที่มีคุณภาพไว้วางใจได้

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งพวกผู้เชี่ยวชาญและพวกนักคิดทั้งหลาย ต่างพยายามผลักดันรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าแดนตากาล็อกมีความเสี่ยงสูงเหลือเกินที่จะประสบกับภัยพิบัติหายนะทางธรรมชาติต่างๆ ผู้คนเหล่านี้จำนวนมากต่างวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่ได้ลงมือตัดสินใจและดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างจริงจังมากกว่านี้ ในช่วงตั้งแต่ก่อนที่พายุไห่เยี่ยนจะถัดถล่ม

เป็นที่ทราบกันอย่างดียิ่งอยู่แล้วว่า พวกย่านสลัมตามเมืองใหญ่และชุมชนริมชายฝั่งนั้นคือจุดอ่อนเปราะที่จะประสบความเสียหายหนักหน่วงเสมอมาเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ พวกวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจึงระบุว่า มีทางเลือกต่างๆ ไม่ใช้น้อยๆ เลยที่รัฐบาลสามารถกระทำได้ในฐานะเป็นมาตรการเตรียมรับมือล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ประชาชนในพื้นที่ความเสี่ยงสูงทั้งหลายต้องอพยพไปสู่สถานที่ปลอดภัย ไปจนถึงการก่อสร้างบังเกอร์คอนกรีตแข็งแรงที่สามารถต้านรับพายุระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่นได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักวิชาการและนักคิดอีกจำนวนมากแล้ว ประเด็นปัญหาที่ใหญ่โตกว่านี้อีก คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และการที่พวกประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นฟิลิปปินส์กำลังกลายเป็นผู้ที่ต้องจ่ายค่าเสียหายอันเกิดขึ้นมาจากการที่พวกประเทศในโลกพัฒนาแล้วได้เคยดำเนินการขยายอุตสาหกรรมอย่างบันยะบันยังอยู่เป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ประเด็นปัญหาเหล่านี้กำลังยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกจากภาวะเจอทางตันในการเจรจาเรื่องภูมิอากาศของโลกในปัจจุบัน สืบเนื่องจากพวกประเทศตะวันตกรายใหญ่ๆ ตลอดจนพวกชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายบิ๊กๆ กำลังปฏิเสธไม่ยอมรับพันธะในการลดระดับการปล่อยไอเสียคาร์บอนของประเทศตนลงมาให้ได้ตามข้อกำหนด

สิ่งที่น่าเสียใจยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือ นอกเหนือจากความพ่ายแพ้ไม่อาจประสบความคืบหน้าในเรื่องการทำข้อตกลงบรรเทาภาวะโลกร้อนแล้ว พวกประเทศยากจนจำนวนมากยังคร่ำครวญด้วยว่า เหล่าชาติร่ำรวยไม่ยินยอมร่วมส่วนออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการปรับตัว ซึ่งจะนำไปใช้ช่วยพวกประเทศอ่อนแอกว่าทั้งหลาย ให้สามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้นกับผลกระทบจากความไม่แน่ไม่นอนของภูมิอากาศ

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น