เอเจนซีส์ - หน่วยงานสรรพากรและศุลกากรอังกฤษ หรือ HMRC ส่งจดหมายเตือนถึงบริษัทชั้นนำในอังกฤษร่วม 200 บริษัท รวมถึงบริษัทในแวดวงการแฟชั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กฝึกงานจ้างใหม่นั้นจะได้รับค่าตอบแทนตามกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ หลังจากมีคดีเกิดขึ้นในกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เด็กฝึกงานแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ นอนเป็นศพเสียชีวิตเพราะโหมงานหนัก
สื่ออังกฤษ เช่น บีบีซี รายงานว่า หน่วยงานสรรพากรและศุลกากรอังกฤษ หรือ HMRC ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการบังคับใช้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำทั่วอังกฤษ หรือ NMW (National Minimum Wage) ได้ส่งจดหมายเตือนไปยังร่วม 200 บริษัท ที่รวมถึง บริษัทที่อยู่ในแวดวงการแฟชั่นที่ในอุตสาหกรรมนี้มักจะไม่จ่ายค่าตอบแทนให้เด็กฝึกงาน ให้ปฎิบัติตามกฏหมายค่าแรงขั้นต่ำ โดยทางหน่วยงาน HMRC นั้น มีแผนที่จะตรวจสอบบริษัทพวกนี้ซึ่งต้องการใช้เด็กฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งงานประจำ
การเคลื่อนไหวของ HMRC นี้เกิดมาจากโครงการ Intern Aware ที่ได้ส่งรายชื่อบริษัทที่ลงโฆษณาร่วมร้อยรายเพื่อว่าจ้างเด็กฝึกงานให้กับ HMRC ตรวจสอบ และหน่วยงานเองได้ตรวจสอบก่อนหน้านั้น และพบว่ามีบริษัท 2 แห่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในปัจจุบันนี้ค่าแรงขั้นต่ำในอังกฤษสำหรับลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 อยู่ที่ 3.72 ปอนด์/ชม.และค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างที่อายุมากกว่า 21 ปี อยู่ที่ 6.31 ปอนด์/ชม.
มิเชล ไวเออร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการค่าตอบแทนขั้นต่ำของหน่วยงาน HMRC เผยว่า “บริษัทใดก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำนั้นต้องจัดการให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นทางสรรพกรจะส่งคนไปเยี่ยม และแน่นอนที่สุดต้องมีบทลงโทษสำหรับบริษัทที่ฝ่าฝืน พร้อมจ่ายค่าปรับ และอื่นๆ เป็นต้น”
โครงการรณรงค์ Intern Aware นั้นมีเป้าหมายเพื่อปกป้องสิทธิของนักศึกษาฝึกงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบริษัทที่ต้องการจ้างเด็กฝึกงานแต่ไม่จ่ายค่าตอบแทนเพื่อทดแทนการจ้างพนักงานที่ต้องจ่ายตามกฏหมายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาในวันที่ 15 สิงหาคม มีคนพบศพโมริตซ์ แอร์ฮาร์ดต์ ชาวเยอรมัน วัย 21 นักศึกษาฝึกงานธนาคารเพื่อการลงทุน Bank of America Merrill Lynch หลังโหมงานจนไม่ได้นอน 3 วันติดกัน ซึ่งการที่เด็กฝึกงานต้องทำงานอย่างหนักมากกว่า 15 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนถือเป็นเรื่องปกติในอังกฤษ โดยเฉพาะในแวดวงการธนาคารและการเงิน โดยกัส เบเกอร์ ผู้อำนวยการร่วมของ Intern Aware กล่าวว่า “คนได้เปลี่ยนให้นักศึกษาฝึกงานให้กลายเป็นพนักงานประจำที่ทำหน้าที่ทุกอย่าง เช่นการต้องอยู่ทำงานจนดึกดื่น ยกเว้นในทุกสิ้นเดือนพวกเขาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนในขณะที่พนักงานคนอื่นได้รับ”
องค์กรสหภาพแรงงานอังกฤษ เช่น Trade Union Congress หรือ TUC ก่อนหน้านั้นได้คาดหมายว่า มีแรงงานจำนวนมากกว่า 250,000 คน ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของอังกฤษ นอกจากนี้ทาง TUC ยังชี้ว่า 1 หนึ่งใน 3 ขององค์กรสาธารณกุศลชั้นนำ 50 ลำดับต้นของอังกฤษนั้นล้วนใช้แรงงานนักศึกษาฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งองค์กรพวกนี้มีเงินทุนที่มากพอเพื่อจ่ายเงินค่าตอบแทนได้ และหากปล่อยไปการที่จะสามารถทำงานในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรนั้นจะจำกัดอยู่ในชนชั้นที่มีอันจะกินในอังกฤษเท่านั้น
ในปี 2012 HMRC ได้คาดการณ์ว่ามีบริษัทอย่างน้อย 736 แห่งที่จ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับพนักงานน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้ หรือถึงขั้นไม่จ่ายอะไรเลย ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ออกแคมเปญโปสเตอร์และวิดีโอคลิปเพื่อให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ชาวอังกฤษที่กำลังจะเป็นเด็กฝึกงานในอนาคตอันใกล้