เอเจนซีส์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” ซึ่งพัดกวาดทำลายเมืองเล็กๆ หลายเมืองในฟิลิปปินส์จนพินาศย่อยยับ น่าจะพุ่งสูงทะลุเกิน 10,000 คน และกลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เลวร้ายที่สุดซึ่งประเทศนี้เคยประสบ พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของแดนตากาล็อกแถลงเตือนในวันอาทิตย์ (10 พ.ย.) ขณะที่ทางด้านเวียดนามก็ได้รีบอพยพประชาชน 600,000 คน ก่อนที่มหาพายุลูกนี้จะเข้าถล่มในตอนดึกวันเดียวกัน ถึงแม้มันเริ่มอ่อนกำลังลงแล้วก็ตาม
ไต้ฝุ่นมหากาฬไห่เยี่ยน สร้างความเสียหายให้แก่สิ่งที่ขวางหน้าราว 70-80% ตลอดเส้นทาง นับแต่ขึ้นบกที่จังหวัดเลย์เต ของฟิลิปปินส์เมื่อวันศุกร์ (8) เหยื่อส่วนใหญ่เสียชีวิตจากน้ำทะเลที่ขึ้นสูงกะทันหันคล้ายกับคลื่นยักษ์สึนามิซึ่งท่วมท้นบ้านเรือนและทำให้ผู้คนมากมายจมน้ำ
รัฐบาลกลางและหน่วยงานภัยพิบัติยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขประมาณการผู้เสียชีวิตล่าสุด ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นเมื่อวันเสาร์ (9) ที่ยังแค่อย่างน้อย 1,000 คน จากพายุที่มีความเร็วลม 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแรงกรรโชก 235 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม เอลเมอร์ โซเรีย ผู้บังคับการตำรวจของเลย์เต ระบุว่าหลังจากประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดแล้ว ในเบื้องต้นเฉพาะที่เลย์เตจังหวัดเดียวก็น่าจะมีผู้เสียชีวิต 10,000 ราย
ทางด้านสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สำทับว่า ภาพถ่ายทางอากาศบ่งชี้ความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่ริมชายฝั่ง เรือขนาดใหญ่หลายลำถูกพัดเกยตื้น บ้านเรือนมากมายพังพินาศเช่นเดียวกับพื้นที่เพาะปลูก
หน่วยงานของยูเอ็นเสริมว่า ประชาชนกว่า 330,900 คนต้องละทิ้งที่อยู่อาศัย และ 4.3 ล้านคนใน 36 จังหวัดได้รับผลกระทบจากไห่เยี่ยน และหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขอรับบริจาคอาหาร น้ำ และผ้าใบกันน้ำเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ไร้บ้าน
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทาโคลบาน เมืองหลวงของเลย์เตที่มีประชากร 220,000 คนและอยู่ห่างจากมะนิลาทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 580 กิโลเมตร บางคนบอกว่า เห็นศพนับร้อยนอนเกลื่อนกลาดบนท้องถนนโดยมีเพียงผ้าห่มหรือพลาสติกปิดเท่านั้น ขณะที่หลายคนเล่าว่ามีผู้คนซึ่งหิวโหยและสูญเสียสมาชิกในครอบครัว เกิดสติแตกพากันฉกชิงขโมยข้าวของ และทางการต้องส่งตำรวจทหารหลายร้อยคนออกมาระงับเหตุ
ทาโคลบานและหมู่บ้านใกล้เคียงที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเพียง 1 กิโลเมตรถูกน้ำท่วม ร่างผู้เสียชีวิตลอยเคว้งในกระแสน้ำ ถนนเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของต้นไม้ อาคาร สายไฟฟ้า ส่วนสนามบินเมืองทาโคลบานก็ถูกน้ำทะเลท่วมสูงถึง 4 เมตร ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากมายสวดมนต์และเรียกร้องความช่วยเหลือให้แก่ผู้รอดชีวิตผ่านทวิตเตอร์และเครือข่ายสื่อสังคมอื่นๆ
ความเสียหายกินวงกว้างนอกเหนือจากทาโคลบาน เจ้าหน้าที่เผยว่ายังไม่สามารถติดต่อกับกีวาน เมืองที่มีประชากร 40,000 คนที่เป็นพื้นที่แรกที่ถูกไห่เยี่ยนถล่ม ขณะที่พื้นที่ 80% ของเมืองบาโกที่มีประชากร 35,000 คนในจังหวัดโอเรียนทัล มินดาเนา จมน้ำ
นอกจากนี้ยังมีรายงานความเสียหายในเขตวิซายาสที่ครอบคลุมเกาะหลัก 8 เกาะ โดยรวมถึงเลย์เต เซบู และซามาร์ เฉพาะที่เกาะหลังสุดนั้นเจ้าหน้าที่ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 300 คน และสูญหายอีก 2,000 คน
ความเสียหายเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งที่ทางการอพยพคนเกือบ 800,000 คนก่อนไต้ฝุ่นจะเดินทางมาถึง
นักท่องเที่ยวบางคนในทาโคลบานเล่าว่า น้ำท่วมโรงแรมที่พักถึงชั้น 2 ห้างหลายแห่งถูกปล้น เนื่องจากผู้รอดชีวิตต้องดิ้นรนหาอาหารและน้ำ ขณะที่ความพยายามให้ความช่วยเหลือถูกขัดขวางจากถนนและระบบสื่อสารที่เสียหายใช้การไม่ได้
หน่วยงานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศหลายแห่งเผยว่า ความพยายามให้ความช่วยเหลือในฟิลิปปินส์ประสบปัญหาอย่างมากจากผลพวงของแผ่นดินไหวขนาด 7.2 กลางจังหวัดโบฮอลเมื่อเดือนที่แล้ว และการอพยพย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายเพื่อหนีกลุ่มกบฏมุสลิมในจังหวัดแซมบองกา ทางใต้ของประเทศ
ทางด้านประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน บินไปดูสถานการณ์รอบๆ อ่าวเลย์เต โดยเฉพาะทาโคลบานเมื่อวันอาทิตย์ (10) และบอกว่าภารกิจสำคัญที่สุดคือ การฟื้นระบบไฟฟ้าและสื่อสารในพื้นที่ที่ถูกตัดขาด และนำความช่วยเหลือไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบเหตุ
ฟิลิปปินส์ยังอ้าแขนรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และยูเอ็น
ไห่เยี่ยนถือเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดให้แก่ฟิลิปปินส์ โดยสถิติก่อนหน้านี้เป็นของไต้ฝุ่นเทลมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 5,100 คนตอนกลางของประเทศเมื่อปี 1991 และแผ่นดินไหวระดับ 7.9 ในปี 1976 ที่ทำให้เกิดสึนามิในอ่าวโมโร ทางใต้ของประเทศ มีผู้เสียชีวิต 5,791 คน
อย่างไรก็ดี ไห่เยี่ยนได้เคลื่อนออกจากฟิลิปปินส์และลดระดับความรุนแรงแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่เวียดนามตอนดึกวันอาทิตย์ (10) โดยล่าสุดเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเพียง 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กระนั้น ทางการฮานอยได้อพยพประชาชนกว่า 600,000 คนล่วงหน้าแล้ว โดยมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คนขณะเตรียมการอพยพ ขณะที่สภากาชาดเวียดนามระบุว่า การที่ไต้ฝุ่นลูกนี้เปลี่ยนเส้นทาง อาจทำให้พื้นที่ภัยพิบัตขยายวงครอบคลุม 9-15 จังหวัด