xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’เก็บแต้มเต็มๆ จากกรณีฉาว‘สหรัฐฯ’แอบสอดแนมทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน พี โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China to reap harvest of NSA scandals
By Brendan O'Reilly
31/10/2013

ประเทศจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังประสานเสียงกันวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการที่วอชิงตันดำเนินการสอดแนมทางไซเบอร์แบบไม่บันยะบันยัง อย่างไรก็ตาม มีแต่จีนเพียงชาติเดียวเท่านั้นซึ่งมีทั้งเครื่องมือและแรงจูงใจที่จะใช้ความขุ่นเคืองนานาชาติที่กำลังแรงกล้าขึ้นทุกทีเช่นนี้มาท้าทายความเป็นเจ้าใหญ่นายโตของอเมริกา ทั้งนี้การสอดแนมของเอ็นเอสเอ ที่กระทำต่อพวกพันธมิตรของสหรัฐฯได้เปิดแนวรบสำคัญมากถึง 2 ด้านซึ่งจีนสามารถนำมาใช้บั่นทอนกัดเซาะฐานะครอบงำโลกของอเมริกาได้

สุดยอดของยุทธศาสตร์การสงครามคือเข้าโจมตีแผนการของข้าศึกให้แตก จากนั้นตีความสามัคคีเป็นพันธมิตรกันของพวกข้าศึกตำราพิชัยสงครามของซุนวู

ประเทศจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังประสานเสียงกันวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการที่วอชิงตันดำเนินการสอดแนมทางไซเบอร์แบบไม่บันยะบันยัง อย่างไรก็ตาม มีแต่จีนเพียงชาติเดียวเท่านั้นซึ่งมีทั้งเครื่องมือและแรงจูงใจที่จะใช้ความขุ่นเคืองนานาชาติที่กำลังแรงกล้าขึ้นทุกทีเช่นนี้มาท้าทายความเป็นเจ้าใหญ่นายโตของอเมริกา ทั้งนี้การสอดแนมของ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency หรือ เอ็นเอสเอ) ที่กระทำต่อพวกพันธมิตรของสหรัฐฯได้เปิดแนวรบสำคัญมากถึง 2 ด้าน ซึ่งจีนสามารถนำมาใช้บั่นทอนกัดเซาะฐานะครอบงำโลกของอเมริกาได้

โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีน หวา ชุนอิง กล่าวถึงการแอบสอดแนมของสหรัฐฯด้วยการใช้ถ้อยคำอันอ้างอิงถึงหลักการ โดยเธอบอกว่า ความมั่นคงทางไซเบอร์ของชาติต่างๆ จักต้องถือว่าเป็น “เรื่องอธิปไตย” ของชาตินั้นๆ ทีเดียว เธอกล่าวว่า ปักกิ่งมีความปรารถนาที่จะแก้ไขประเด็นปัญหานี้โดยอาศัยกรอบโครงของสหประชาชาติ และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่ว่านี้ “จีนกับรัสเซียได้ยื่นเสนอร่างแผนการขึ้นมาร่างหนึ่ง ด้วยความพยายามที่จะช่วยให้โลกร่วมไม้ร่วมมือกันจัดการแก้ไขปัญหา” [1]

ข้อเสนอร่วมของจีน-รัสเซีย เพื่อต่อสู้กับการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ของเอ็นเอสเอ ออกมาในจังหวะเวลาเดียวกับที่มีประเทศพันธมิตร 2 รายของสหรัฐฯก็ได้ประกาศแผนการริเริ่มซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกัน

ทั้งนี้เยอรมนีกับบราซิล กำลังทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำญัตติสหประชาชาติฉบับหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายในการสกัดกั้นลดทอนการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศทั้งสองต่างพากันแสดงความขุ่นเคืองอย่างเปิดเผยต่อวอชิงตัน ภายหลังที่มีรายงานข่าวเปิดเผยออกมาว่า เอ็นเอสเอได้เคยแอบดักฟังดักติดตามการติดต่อสื่อสารส่วนบุคคลทั้งของประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ แห่งบราซิล และนายกรัฐมนตรีอังเงลา แมร์เคิล ของเยอรมนี มานมนานหลายปีแล้ว

พวกนักการทูตของบราซิลและเยอรมนีคาดหมายกันว่าจะสามารถจัดทำร่างญัตตินี้ให้เสร็จได้ภายใน 1 สัปดาห์ และจากนั้นก็จะส่งไปให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) พิจารณา ตามคำพูดของนักรัฐศาสตร์ กุนเธอร์ ไมโฮลด์ (Gunther Maihold) ระบุเอาไว้ว่า”สิ่งที่บราซิลต้องการมากที่สุดก็คือญัตติดังกล่าวนี้จะส่งผลให้ยูเอ็นมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศในเรื่องนี้ขึ้นมา”[2]

ระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศในเรื่องการสอดแนมหาข่าวทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนี้ โดยสาระสำคัญแล้วย่อมเท่ากับเป็นการประณามตำหนิพวกชนชั้นนำทางการเมืองชาวอเมริกันจำนวนมากพอดู ผู้ซึ่งมีความเชื่อว่าการที่เอ็นเอสเอจะเที่ยวแอบดักฟังดักติดตามหาข่าวกรองอย่างไร้ขอบเขตจำกัดนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมมีเหตุผล เนื่องจากภัยคุกคามของ “การก่อการร้าย” ที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างไม่มีวันสิ้นสุด นอกจากนั้นแล้ว คนเหล่านี้ยังต่างก็เป็นพวกที่ไม่ไว้วางใจสหประชาชาติเอาเลย

ปักกิ่งนั้นน่าที่จะสนับสนุนความพยายามในการต่อต้านการสอดแนมทางไซเบอร์บนเวทียูเอ็นเช่นนี้ โดยเหตุผลที่แท้จริงนั้นเป็นเพราะพวกผู้นำจีนคาดหมายว่า ความพยายามดังกล่าวจะล้มเหลวลงเมื่อเผชิญกับความดื้อรั้นไม่ยินยอมประนีประนอมทางการเมืองของฝ่ายอเมริกัน และผลพวงจากการที่วอชิงตันเข้าสกัดขัดขวางแผนการริเริ่มเพื่อต่อต้านการสอดแนมบนเวทีสหประชาชาติเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นตัวฉุดแข้งฉุดขาการดำเนินการทางการทูตของอเมริกันไปอีกหลายสิบปีถัดจากนี้ไป

การที่จีนออกแรงหนุนความพยายามในยูเอ็นที่จะสกัดกั้นบั่นทอนกิจกรรมต่างๆ ของเอ็นเอสเอเช่นนี้ จึงอาจจะส่งผลเป็นการบ่อนทำลายฐานะความเป็นเจ้าใหญ่นายโตของอเมริกัน ด้วยการสร้างความระส่ำระสายให้แก่พวกพันธมิตรของอเมริกา โดยที่ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับชาติต่างๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยผนึกความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะการครอบงำโลกของวอชิงตันมาเป็นระยะเวลาร่วมๆ 1 ศตวรรษทีเดียว

กระนั้นก็ตาม การที่ปักกิ่งแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับการสอดแนมทางไซเบอร์ของอเมริกันเช่นนี้ ด้านหลักแล้วสมควรถือว่าเป็นยุทธวิธีในการป้องกันตัว มากกว่าเป็นการรุก

ทั้งนี้ตามรายงานข่าวที่เผยแพร่ใน “แดร์ ชปิเกล” (Der Spiegel) นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อดังของเยอรมนี เวลานี้เอ็นเอสเอกำลังดำเนินการแอบสอดแนมทางอิเล็กทรอกนิกส์ต่อจีน จากที่ทำการทางการทูตของอเมริกันทั้งในปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เฉิงตู, ฮ่องกง, และไทเป

ไม่เพียงเท่านั้น สื่อมวลชนของญี่ปุ่นรายงานในสัปดาห์นี้ว่า เมื่อปี 2011 เอ็นเอสเอได้พยายามขอให้โตเกียวช่วยเหลือในการดักฟังดักติดตามการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายเคเบิลใยแก้วน้ำแสงซึ่งวางผ่านประเทศญี่ปุ่น [3] ความเคลื่อนไหวเช่นนี้แม้ไม่ได้ระบุว่าวอชิงตันพุ่งเป้าหมายไปที่ใด แต่ก็แทบจะปราศจากข้อสงสัยเลยว่าจุดมุ่งหมายประการสำคัญที่สุดก็คือการแอบรวบรวมเก็บข้อมูลสำคัญๆ ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจจากการติดต่อสื่อสารของจีนนั่นเอง ในเมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าพวกผู้ก่อการร้ายที่มีบรรพบุรุษอยู่ในเอเชียตะวันออกนั้น โดยทั่วไปแล้วไม่ได้ถูกถือว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่โตอะไรต่อมาตุภูมิของชาวอเมริกัน

ตามรายงานของสื่อแดนอาทิตย์อุทัย รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการดักฟังการติดต่อสื่อสารในระดับใหญ่โตมโหฬารถึงขนาดนั้น เป็นการกระทำผิดกฎหมายภายใต้ตัวบทกฎหมายของญี่ปุ่น

บทสรุปของเรื่องราวนี้จึงบรรจุเอาไว้ด้วยมุกอันน่าหัวเราะเยาะโห่ฮาไม่ใช่น้อยๆ สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากจีนนั้นถูกวอชิงตันกล่าวหามายาวนานว่าเป็นผู้ที่กำลังร่วมไม้ร่วมมือกับพวก “รัฐอันธพาล” ที่ไร้ขื่อไร้แปทั้งหลาย แต่แดนมังกรในขณะนี้กลับกำลังได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกสอดแนมจากอเมริกัน ด้วยกฎหมายที่ตราเอาไว้ในชาติพันธมิตรสนิทสนมของสหรัฐฯอย่างญี่ปุ่น

**เรื่องทางศีลธรรม**

แนวรบด้านที่สองซึ่งปักกิ่งสามารถที่จะดำเนินการผลักดันเดินหน้าต่อต้านวอชิงตัน ได้แก่ปริมณฑลทางด้านมติมหาชนระหว่างประเทศ พวกผู้นำอเมริกันนั้นได้ใช้ความพยายามมายาวนานในการสร้างภาพลักษณ์ของอเมริกาให้เป็นประเทศที่มีจริยธรรมอย่างโดดเด่น, เป็น “นครสูงสง่าบนภูเขา” ตามที่เอ่ยไว้ในคำเทศนาของพระเยซูคริสต์, เป็นมหาอำนาจที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมตามอุดมคติ ซึ่งพวกประเทศอื่นที่ต่ำต้อยกว่า ป่าเถื่อนยิ่งกว่า และคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ควรที่จะยึดถือเป็นแบบอย่างเพื่อกระทำตาม

แต่แล้วพฤติการณ์ของการเที่ยวแอบติดตามดักฟังการติดต่อทางโทรศัพท์เป็นสิบๆ ล้านสายในประเทศพันธมิตร โดยที่บางชาติในจำนวนนี้ถือเป็นเพื่อนมิตรสนิทสนมที่สุดของอเมริกาด้วยซ้ำไป ได้ทำให้ภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้ต้องแปดเปื้อนอย่างร้ายแรง และสื่อมวลชนของทางการจีนในขณะนี้จึงกำลังฉวยใช้ประโยชน์จากพัฒนาการนี้อย่างเต็มที่ เป็นต้นว่าเมื่อวันพุธ (30 ต.ค.) ที่ผ่านมา ข่าวเด่นที่สุดบนเว็บไซต์ของไชน่าเดลี่ (China Daily) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน พาดหัวเรื่องว่า “กรณีสอดแนมอื้อฉาว ‘จะลดทอน’ เครดิตของสหรัฐฯในทั่วโลก”

ยิ่งสื่อมวลชนภาษาจีนด้วยแล้วยิ่งส่งเสียงโวยวายเอะอะยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำไป ช่อง 4 ของสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV Four) เสนอรายการที่ จาง เจ้าจง (Zhang Zhaozhong) คอมเมนเตเตอร์ด้านการทหารชื่อดัง ออกมาพูดว่า “มาถึงเวลานี้ ถ้าหากสหรัฐฯปรารถนาที่จะหวนกลับไปหาเรื่องเสรีภาพแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว พวกเขาก็ควรจะต้องกล่าวขอโทษขอโพยต่อทั่วทั้งโลก ต้องยอมพูดว่า: พวกเราขอโทษ ที่ทางเราได้ไปออกแบบซอฟต์แวร์บางตัวเอาไว้แบบนี้, เรามีโปรแกรมแอบเข้าประตูหลังแบบนี้อยู่, แต่ในอนาคตเราจะจัดการกับโปรแกรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ...”[4]

วันเวลาช่างเปลี่ยนแปลงอะไรรวดเร็วเช่นนี้ เพราะเพียงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯนั่นแหละเป็นฝ่ายที่กำลังส่งเสียงกึกก้องขึ้นเรื่อยๆ ในการวิพากษ์วิจารณ์การสอดแนมทางไซเบอร์ของฝ่ายจีน ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งแรกกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งออกมาเรียกร้องให้จีนกระทำตาม “กฎเกณฑ์ (ระหว่างประเทศ) ของท้องถนน” อีกทั้งบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า “รัฐบาลใดๆ ก็ตามจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีไซเบอร์ที่กระทำขึ้นจากพื้นที่ภายในพรมแดนของพวกเขา” [5]

จีนนั้นแสดงความมุ่งมาดปรารถนาที่จะย้ำเตือนให้ท่านผู้ฟังท่านผู้ชมทั้งภายในแดนมังกรเองและในระดับระหว่างประเทศ ได้มองเห็นถึงความเป็นคนมือถือสากปากถือศาลของทางการอเมริกัน และเวลานี้ความเป็นคนมือถือสากปากถือศีลของวอชิงตันดังกล่าว ก็กำลังถูกเปิดโปงเปลือยเปล่ากันในระดับทั่วโลกทีเดียว

ความมีศีลธรรม หรือถ้าจะพูดกันให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ก็ควรที่จะบอกว่า การสร้างภาพลักษณ์แห่งความมีศีลธรรมนั้น เป็นสิ่งที่แสดงบทบาทสำคัญมากในการบรรลุจุดมุ่งหมายทางนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา สหรัฐฯถึงแม้ปรากฏความผิดพลาดและความบกพร่องอย่างไรก็ตามที แต่ก็ยังสามารถดึงดูดผู้ชื่นชมและผู้สนับสนุนในตลอดทั่วโลก จากอุดมคติด้านการเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยที่ประเทศนี้พยายามเผยแพร่

ในทางตรงกันข้าม นโยบายการต่างประเทศของฝ่ายจีนในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น แทบไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับอุดมการณ์เอาเลย ปักกิ่งลงหลักปักฐานความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับประเทศต่างๆ บนพื้นฐานของการที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละฝ่ายมีความสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

ปักกิ่งกำลังเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากการออกมาเน้นย้ำว่าว่า อเมริกากำลังสูญเสียจุดยืนทางศีลธรรมที่ตนเองพยายามแอบอ้างสร้างขึ้นมา หลังจากเกิดกรณีคุกอ่าวกวนตานาโมและสงครามอิรักแล้ว วอชิงตันก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะสูญเสียความมีศีลธรรมจรรยาของตนได้อีกต่อไป ถ้าหากสหรัฐฯถูกมองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นมหาอำนาจที่ไร้ศีลธรรมและมือถือสากปากถือศีลไปแล้ว นโยบายของจีนที่ในทางปฏิบัติเน้นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการไม่แทรกแซงทางการเมืองก็อาจจะดูมีเสน่ห์น่านิยมเพิ่มขึ้นทุกทีๆ

สมควรที่จะต้องชี้เอาไว้ตรงนี้ด้วยว่า จีนเวลานี้มีฐานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของบราซิล ขณะเดียวกับการค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับเยอรมนีในปัจจุบัน ก็กำลังมีมูลค่าสูงกว่าการค้าระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ

ขณะที่การเปิดโปงแฉโพยเรื่องการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ของเอ็นเอสเอยังคงบานปลายออกไปเรื่อยๆ เช่นนี้ คาดหมายได้เลยว่าปักกิ่งจะยังคงพยายามตอกย้ำให้เห็นถึงการหลอกลวงตีสองหน้าในทางศีลธรรมของวอชิงตัน นอกจากนั้นจีนยังจะสนับสนุนแผนการริเริ่มต่างๆ ในเวทีสหประชาชาติที่จะสกัดกั้นลดทอนการสืบความลับทางไซเบอร์ ซึ่งมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดการแตกแยกอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีกระหว่างอเมริกากับเหล่าพันธมิตรของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นมาในคราวนี้ที่สำคัญแล้วเป็นการที่วอชิงตันกระทำใส่ตัวเอง ก้อนหินที่ครั้งหนึ่งมีเจตนาที่จะทุ่มโยนใส่จีน กลับย้อนคืนมาทำให้ห้องกระจกแห่งความมีศีลธรรมของอเมริกันต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ เสียแล้ว

หมายเหตุ:
[1] ดูเรื่อง "Spy scandal 'will weaken' US global credibility", China Daily, October 30, 2013.
[2] ดูเรื่อง "Germany and Brazil want UN vote on NSA spying", Deutsche Welle, October 31, 2013.
[3] ดูเรื่อง "NSA asked Japan to tap regionwide fiber-optic cables in 2011", The Japan Times, October 27, 2013.
[4] ดูเรื่อง "Zhang Zhaozhong speaks of the Snowden affair's frightening secret", People's Daily, October 30, 2013 (ภาษาจีน).
[5] ดูเรื่อง "Obama to press China's Xi to act against cyber spying", Reuters, June 4, 2013.

เบรนดัน พี โอไรลลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ oreillyasia@gmail.com.
กำลังโหลดความคิดเห็น