เอเอฟพี - แรงงานทั่วอินโดนีเซียประกาศหยุดงานเป็นเวลา 2 วันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ วันนี้ (30) ซึ่งนับเป็นการแสดงพลังครั้งล่าสุดของแรงงานที่ต้องการได้รับส่วนแบ่งกำไรเพิ่มจากเศรษฐกิจเมืองอิเหนากำลังเติบโตเร็ว
ภาวะเงินเฟ้อที่ฉุดค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานร้องขอให้รัฐบาลจาการ์ตาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงไม่กี่เดือนมานี้
สหภาพแรงงานระบุว่า ตลอด 2 วันนี้จะมีแรงงานออกมาประท้วงเกือบ 3 ล้านคน แม้ที่ผ่านมาจำนวนผู้เข้าร่วมมักจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก็ตาม
ซาอิด อิกบัล ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานอินโดนีเซีย (KSPI) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ... แรงงานจำนวนมากต้องไปอาศัยอยู่ตามใต้สะพานหรือท่อระบายน้ำ เพราะไม่มีเงินพอจ่ายค่าเช่าบ้าน พวกเขาต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนข้าว”
แรงงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิงที่รัฐอุดหนุนเมื่อเดือนมิถุนายน โดยราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นราว 44% ส่วนดีเซลขยับขึ้นอีก 22%
“เราเพียงต้องการเงินเดือนที่เหมาะสมมาชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อ... แรงงานอย่างเราเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต แต่ทำไมเราจึงถูกย่ำยีเช่นนี้” อิกบัล ระบุ
KSPI คาดว่าจะมีแรงงานราว 300,000 คนออกมาประท้วงในกรุงจาการ์ตา ส่วนที่เมืองเบกาซีซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง จะมีแรงงานออกมาแสดงพลังราวๆ 400,000 คน
แรงงานเมืองอิเหนาจัดการชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานบ่อยขึ้น เพื่อบีบให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ปีนี้รัฐบาลอิเหนาเพิ่งประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานในกรุงจาการ์ตาอีก 44% รวมเป็น 2.2 ล้านรูเปียะห์ต่อเดือน (ราว 6,150 บาท) ส่วนในเมืองอื่นๆ ก็มีการเพิ่มฐานเงินเดือนให้เช่นกัน
KSPI เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มฐานเงินเดือนแก่คนงานในเมืองหลวงไม่น้อยกว่า 3.7 ล้านรูเปียะห์ต่อเดือน (ราว 10,300 บาท)