xs
xsm
sm
md
lg

จีนประโคมข่าวกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ รมว.กลาโหมญี่ปุ่นอัดมังกร “ก่อกวนความสงบสุข”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่ไม่มีการระบุวันเวลาถ่ายภาพนี้ แสดงให้เห็นเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ลำหนึ่งของทัพเรือภาคเหนือของกองทัพเรือจีน ทั้งนี้เมื่อวันอังคาร (29 ต.ค.) สื่อมวลชนของจีนพากันประโคมข่าวกองเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของตนกันขนานใหญ่ ท่ามกลางสงครามวาจาระหว่างโตเกียวกับปักกิ่งซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยิ่งตึงเครียด
เอเจนซีส์ – รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นตำหนิจีนในวันอังคาร (29 ต.ค.) ว่า ก่อกวนความสงบสุขในภูมิภาค จากการทะเลาะกับโตเกียวในเรื่องหมู่เกาะที่สองฝ่ายพิพาทกันอยู่ โดยที่ในวันเดียวกันนี้เอง ปักกิ่งได้เปิดตัวกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่สื่อแดนมังกรป่าวประกาศว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยกระทำกันมาก่อน แต่มีความจำเป็นเพื่อให้ชาติอื่นๆ ตระหนักถึงสมรรถนะในการโจมตีของจีน

ในการโอ่อวดแสนยานุภาพในทะเลหลวงของจีนอย่างเปิดเผย หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับของทางการจีนเมื่อวันอังคาร พากันประโคมข่าวกองเรือดำน้ำที่มีอายุยาวนาน 40 ปีของแดนมังกร ขณะที่สถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง ซีซีทีวี ของรัฐบาล ก็ได้แพร่ภาพการฝึกซ้อมของกองเรือนี้ซ้ำหลายรอบในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทมส์ ระบุว่า เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ลำแรกของจีนถูกปล่อยลงน้ำตั้งแต่ปี 1970 ทว่าชาติอื่นๆ ดูเหมือนกับไม่ให้ความสำคัญ

โกลบัล ไทมส์ ซึ่งอยู่ในเครือของเหรินหมินรึเป้า กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มักมีน้ำเสียงในทางชาตินิยมจัด และในบทบรรณาธิการคราวนี้ก็เขียนบอกว่า จีนนั้นทรงอำนาจยิ่งจึง “กำลังครอบครองสมรรถนะการโจมตีตอบโต้ทางนิวเคลียร์ที่เชื่อถือได้” พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “บางประเทศไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างจริงจังในเวลาที่พวกเขากำหนดนโยบายว่าด้วยจีนของพวกเขา ดังนั้น จึงกำลังทำให้มติมหาชนแสดงท่าทีที่ดูเบาจีน”

“จีนจำเป็นต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า ทางเลือกเดียวที่มีอยู่ก็คือ อย่าท้าทายผลประโยชน์แกนหลักของจีน” โกลบัล ไทมส์ ระบุและย้ำว่า การพัฒนากองนาวีพลังนิวเคลียร์ของแดนมังกรเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายนี้

ทางด้านนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การเสนอข่าวเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเตือนชาติอื่นๆ ว่า จีนซึ่งกำลังใช้จ่ายด้านการทหารมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก มีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังสร้างกองเรือทรงอานุภาพมากขึ้นที่พรั่งพร้อมด้วยศักยภาพนิวเคลียร์

ข่าวประชาสัมพันธ์กองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ครั้งนี้มีขึ้นขณะที่ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นสั่นคลอนอย่างมาก จากสงครามวาจาเกี่ยวกับหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทซึ่งญี่ปุ่นควบคุมอยู่และใช้ชื่อว่าเซงกากุ แต่จีนอ้างสิทธิ์เช่นเดียวกันและเรียกขานว่าเตี้ยวอี๋ว์

ทั้งนี้ ในวันอังคาร อิสึโนริ โอโนเดระ รัฐมนตรีกลาโหมแดนอาทิตย์อุทัยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในโตเกียวว่า จีนกำลังทำตัวเป็นอันตรายต่อสันติภาพจากการทะเลาะกับญี่ปุ่นในเรื่องหมู่เกาะที่พิพาทกันนี้ พร้อมกับระบุว่า “การรุกล้ำ”น่านน้ำรอบหมู่เกาะเซงกากุของจีนเข้าข่าย “ก้ำกึ่ง” ระหว่างช่วงเวลาแห่งสันติภาพกับช่วงเวลาแห่งสถานการณ์ฉุกเฉิน

ในวันเดียวกันนั้นเอง สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กองทัพเรือจีนได้ส่งเรือฟรีเกตจำนวน 2 ลำไปแล่นระหว่างเกาะ 2 เกาะของหมู่เกาะโอกินาวา โดยที่อยู่นอกเขตน่านน้ำอาณาเขตของญี่ปุ่นนิดเดียว

เกียวโดซึ่งอ้างกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่า เรือรบแดนมังกรทั้ง 2 ลำแล่นอยู่ในบริเวณนั้นราว 4 ชั่วโมง โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งทำท่าเหมือนจะบ่ายหน้าไปยังหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ แต่แล้วก็เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (28) กองกำลังรักษาชายฝั่งของจีนก็ได้ส่งเรือยามฝั่ง 4 ลำไปยังบริเวณรอบหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทราว 2 ชั่วโมง โดยมีเรือยามฝั่งของญี่ปุ่นสังเกตการณ์อยู่ไม่ห่าง

เหตุการณ์ทางทะเลเหล่านี้มีขึ้นหลังจากที่โตเกียวส่งฝูงเครื่องบินขับไล่ขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อประจันกับเครื่องบินเตือนภัย 2 ลำและเครื่องบินทิ้งระเบิดอีก 2 ลำของจีน ซึ่งออกมาบินเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้ๆ กับหมู่เกาะโอกินาวาเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันจนกระทั่งถึงวันจันทร์ (28)

ถึงแม้เครื่องบินทหารของจีนไม่ได้รุกล้ำน่านฟ้าญี่ปุ่น แต่โอโนเดระระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ “ผิดปกติมาก”
“เราเข้าใจว่า นี่เป็นหนึ่งในแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่า จีนกำลังขยายขอบเขตกิจกรรม (ทางทหาร) ของตนอย่างแข็งขัน ซึ่งรวมถึง (การเพิ่มกิจกรรม) ในมหาสมุทรเปิดด้วย”

สัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานว่านายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ยังเปิดไฟเขียวให้ยิงอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ที่เพิกเฉยต่อการเตือนให้ออกจากน่านฟ้าญี่ปุ่น หลังจากมีรายงานว่า โดรนลำหนึ่งมุ่งหน้าไปทางใต้ของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งผู้วางนโยบายในญี่ปุ่นต่างเชื่อว่า เป็นโดรนของจีน

ต่อมาในวันเสาร์ (26) กระทรวงกลาโหมจีนออกมาตอบโต้ทันควันว่า หากญี่ปุ่นยิงเครื่องบินของจีนจะถือเป็นการยั่วยุและก่อสงคราม และปักกิ่งจะตอบโต้อย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน

ผู้สังเกตการณ์ต่างเตือนว่า การส่งเครื่องบินและเรือไปยังบริเวณที่มีข้อพิพาทบ่อยครั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเผชิญหน้า และความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่โตได้

อากิระ คาโตะ ศาสตราจารย์ด้านการทหารและความมั่นคง มหาวิทยาลัยโอบิรินในโตเกียวขานรับว่า สถานการณ์มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น ในสภาพที่ไม่มีการติดต่อสื่อสารกันในทางการทูต ทั้งนี้จีนนั้นไม่มีทีท่าจะผ่อนปรนจุดยืนของตน ขณะที่ญี่ปุ่นก็หวังพึ่งข้อตกลงความมั่นคงที่ระบุว่า อเมริกาต้องเข้ามาช่วยเหลือหากญี่ปุ่นถูกโจมตี และนี่อาจจะเป็นบททดสอบความเป็นพันธมิตรของสองชาตินี้

ในสัปดาห์ที่แล้ว ญี่ปุ่นแถลงข่าวว่ากำลังวางแผนจัดการซ้อมรบครั้งมโหฬาร ที่เกาะร้างแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์หลายร้อยกิโลเมตร โดยจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์ (1 พ.ย.) ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มทักษะของกำลังทหาร 34,000 คนที่เข้าร่วม ทั้งในการป้องกันและในการบุกชิงคืนดินแดนห่างไกลซึ่งถูกข้าศึกยึดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น