เอเอฟพี - ผลสำรวจศักยภาพด้านการแข่งขันประจำปีซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ยกให้สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นสองประเทศที่น่าลงทุนทำธุรกิจมากที่สุด ขณะที่จีนตกไปอยู่ลำดับ “เฉียดร้อย” ส่วนไทยรั้งอันดับที่ 18 ของโลกเช่นเดียวกับปีที่แล้ว
สิงคโปร์ยังคงรักษาแชมป์ประเทศน่าลงทุนที่สุดมา 8 ปีซ้อน ขณะที่นิวซีแลนด์, สหรัฐฯ และเดนมาร์ก ติดอันดับท็อปไฟว์เช่นเดียวกับเมื่อปีก่อน
ชาด, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และลิเบีย ถูกจัดอยู่ในลำดับท้ายสุดในรายงานของเวิลด์แบงก์ ซึ่งจัดอันดับความยาก-ง่ายในการลงทุนใน 189 ประเทศทั่วโลก
รวันดา เป็นประเทศแอฟริกาที่มีพัฒนาการเชิงบวกมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2005 โดยได้รับเสียงชื่นชมในเรื่องของการสนับสนุนให้คนจดทะเบียนทรัพย์สิน และลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในส่วนของการค้าและการเก็บภาษี
จีน ซึ่งถูกจัดไว้ในอันดับ 91 เมื่อปีที่แล้ว ร่วงลงมาอยู่อันดับที่ 96 ในปีนี้ และยังถูกรัสเซียแซงขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 92 ด้วย
รายงาน “Doing Business 2014” ระบุว่า หลายประเทศได้ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้เหมาะสมต่อการเปิดธุรกิจใหม่ในท้องถิ่น โดยกลุ่มประเทศที่รายได้น้อยมีพัฒนาการรวดเร็วกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่า
รายงานของเวิลด์แบงก์มุ่งศึกษาวิเคราะห์อุปสรรคที่เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องเผชิญในประเทศของตน และเปรียบเทียบกับปัญหาของบริษัทใหญ่ๆ ในบริบทเดียวกัน โดยมีการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญกว่า 10,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและระเบียบการทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ
ประเทศที่มีพัฒนาการด้านความน่าลงทุนมากที่สุดในรอบ 5 ปี ได้แก่ รวันดา (32), รัสเซีย (92), ยูเครน (112) และฟิลิปปินส์ (108) โดยในกรณีของรัสเซียและรวันดาขยับขึ้นมาถึง 20 อันดับจากปีที่แล้ว ส่วนฟิลิปปินส์พุ่งขึ้นจากเดิมถึง 30 อันดับ
จีนมีคะแนนตกต่ำเป็นพิเศษในเรื่องความท้าทายของการเปิดธุรกิจใหม่, การขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร, การจ่ายภาษี และการปกป้องนักลงทุน แม้แต่ในด้านการค้าซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของจีนก็ยังถูกจัดไว้ลำดับที่ 74 เท่านั้น
ปีที่แล้ว จีนเรียกร้องให้ประธานเวิลด์แบงก์ จิม ยอง คิม ยุติการออกรายงานประจำปีฉบับนี้เสีย โดยตำหนิว่ามีการใช้ “ระเบียบวิธีวิจัยที่ผิดพลาด ไม่สะท้อนความเป็นจริง และทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด” ขณะที่ คิม ก็อ้างว่า ผลสำรวจเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการรณรงค์ยุติความยากจนที่เวิลด์แบงก์กำลังผลักดันอยู่
นักวิจารณ์หลายคนยังกังขากับระเบียบวิธีวิจัยที่เวิลด์แบงก์เลือกใช้ ซึ่งบางครั้งให้ผลลัพธ์ที่ไม่กินกับปัญญา เช่น ในประเด็น “ความยาก-ง่ายในการขอใช้กระแสไฟฟ้า” เฮติซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลกถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 67 ส่วนแคนาดาซึ่งรุ่มรวยพลังงานกลับหล่นไปอยู่ลำดับ 145 และในประเด็น “การปกป้องนักลงทุน” เซียร์ราลีโอนซึ่งเป็นประเทศยากจนถูกจัดไว้ลำดับที่ 22 แต่สวิตเซอร์แลนด์กลับตกไปลำดับที่ 170 เป็นต้น