เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันอังคาร (16) ระบุ มีผู้ถูกสังหารกว่า 5,000 รายต่อเดือนในสงครามกลางเมืองซีเรีย และความขัดแย้งที่ดำเนินมานานเกินกว่า 2 ปีนี้ ยังส่งผลให้เกิดวิกฤตคลื่นผู้อพยพที่เลวร้ายที่สุดของโลก นับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 พร้อมชี้ถึงเวลาแล้วที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่แตกแยก ต้องเร่งหาทางยุติการนองเลือดในซีเรียโดยเร็ว
รายงานข่าวซึ่งอ้าง อีวาน ซิโมโนวิช นักการเมืองอาวุโสชาวโครเอเชีย ซึ่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ความขัดแย้งในซีเรียที่เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2011 นั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 100,000 คน และอัตราการเสียชีวิตจากการสู้รบในซีเรียเวลานี้ สูงถึงกว่า 5,000 คนต่อเดือน ถือเป็นวิกฤตที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย
ขณะที่อันโตนิว กูเตร์เรส ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติชาวโปรตุเกสเผยว่า ในเวลานี้คลื่นผู้อพยพที่มีจำนวนเกือบ 1.8 ล้านคน ได้ถูกขึ้นทะเบียนกับทางยูเอ็นในประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบซีเรีย โดยจำนวนผู้ที่ต้องอพยพหนีการนองเลือดในซีเรีย ขณะนี้เฉลี่ยแล้วจะสูงถึงราว 6,000 คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ของการอพยพหนีภัยครั้งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยเผชิญมานับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ “ชนเผ่าทุตซี” ราว 800,000 คนที่เกิดขึ้นที่ประเทศรวันดา ในแอฟริกา เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว โดยในครั้งนั้นมีผู้อพยพออกจากรวันดามากกว่า 2 ล้านคน
ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ยังแสดงความชื่นชมต่อประเทศเพื่อนบ้านของซีเรีย อย่างเลบานอน อิรัก จอร์แดน และอีกหลายประเทศที่ยอมรับผู้อพยพจากซีเรียให้เข้าไปพักพิงในเขตแดนของตน โดยระบุ ความช่วยเหลือดังกล่าวของประเทศเหล่านี้ ได้ช่วยรักษาชีวิตของผู้บริสุทธิ์ได้เป็นเรือนแสน
ด้าน วาเลรี อามอส ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินของยูเอ็นเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศเร่งหาทางจัดส่งความช่วยเหลือแบบข้ามพรมแดนเข้าไปในซีเรีย พร้อมเผยภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อดินแดนแห่งสงครามในตะวันออกกลางแห่งนี้ ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินอีกกว่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 96,380 ล้านบาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้จะเพียงพอใช้สำหรับภารกิจช่วยเหลือชาวซีเรียจนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น
อามอส ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีสตรีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ของอังกฤษยังเผยด้วยว่า มีผู้คนราว 4 ล้านคนในซีเรียที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในขณะนี้ โดยเฉพาะพลเรือนกว่า 2,500 คน ที่ยังคงติดอยู่ภายในเมืองฮอมส์ ซึ่งตกเป็นศูนย์กลางของการสู้รบอันหนักหน่วงระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลซีเรีย กับนักรบฝ่ายกบฏตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า การจัดส่งความช่วยเหลือแบบข้ามพรมแดนเข้าไปในซีเรีย ยังคงเป็นสิ่งที่มิอาจเป็นไปได้ เนื่องจากรัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด ไม่ยอมรับ เช่นเดียวกับรัสเซียที่ยังคงรักษาจุดยืนเดิมของตนในการคัดค้านการแทรกแซงของนานาประเทศต่อซีเรีย
ด้าน นาวาฟ ซาลัม เอกอัครราชทูตของเลบานอนประจำยูเอ็น เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯเร่งหาทางแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองซีเรียโดยเร็ว โดยระบุ ขณะนี้ลำพังเลบานอนเพียงประเทศเดียวก็ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพจากซีเรียสูงถึง 607,908 ราย ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับยูเอ็น ขณะที่ยอดผู้อพยพที่แท้จริงอาจสูงถึง 1.2 ล้านคน