xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจชี้ นักการเมืองอเมริกันสมควรถูก “ล้างบาง” หลังมัวแต่กัดกัน ทำประเทศ “ชัตดาวน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในสหรัฐฯที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ระบุชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งต้องการ “โละทิ้ง” นักการเมืองในสภาคองเกรสชุดปัจจุบันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองจากพรรคเดโมแครต หรือพรรครีพับลิกัน หลังจากที่มัวแต่งัดข้อกันจนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงด้านงบประมาณ ทำให้หน่วยงานรัฐบาลกลางประสบภาวะชัตดาวน์นานถึง 16 วัน

ผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวพบว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันมีความเห็นว่า สภาคองเกรสจะมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ได้ก็ต่อเมื่อมีการ “ล้างบาง” สมาชิกชุดปัจจุบันออกไปให้หมด ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.และไม่ว่าจะเป็นสมาชิกจากพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน

โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯชุดปัจจุบันทั้ง 535 คน มีแต่พวกนักการเมืองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าผลประโยชน์ของชาติและความเดือดร้อนของประชาชนชาวอเมริกัน

ขณะที่ 47 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็นของยูเอสเอ ทูเดย์ และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันระบุว่า สภาคองเกรสจะดีกว่านี้หากสมาชิกส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยนักการเมืองสายเลือดใหม่ที่มีคุณภาพ

ผลสำรวจยังพบว่า 39 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกัน มองว่าพรรครีพับลิกันสมควรถูกตำหนิมากที่สุดในฐานะที่เป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤตชัตดาวน์ หรือการปิดตัวของหน่วยงานรัฐบาลกลางนานมากกว่าครึ่งเดือน ขณะที่ 19 เปอร์เซ็นต์ชี้ว่าพรรคเดโมแครตสมควรถูกตำหนิมากกว่า ส่วน 36 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันสมควรถูกตำหนิพอๆ กัน

ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับจ้องลุ้นระทึกไปกับปัญหา “ทางตัน” ด้านงบประมาณในสภาคองเกรสส์ของสหรัฐฯ หลังจากที่บรรดานักการเมืองอเมริกันทั้งจากพรรคเดโมแครตและฟากฝั่งรีพับลิกัน ต่างงัดข้อประลองกำลังกันอย่างถึงพริกถึงขิง จนทำเอาประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ต้องประสบภาวะ “ชัตดาวน์” หรือการปิดตัวของหน่วยงานรัฐบาลกลางบางส่วนนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และยังสุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม


ความล้มเหลวของบรรดานักการเมืองแห่งเมืองลุงแซมในการบรรลุข้อตกลงด้านงบประมาณ จนนำไปสู่การชัตดาวน์หน่วยงานภาครัฐตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม รวมถึงความหวังที่สภาคองเกรสส์สหรัฐฯ จะเห็นชอบขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลภายในกำหนดเส้นตายคือเที่ยงคืนวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคมนั้น แท้จริงแล้วมีอุปสรรคใหญ่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือ การที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่เรียกตัวเองว่าพวก “ทีปาร์ตี” ภายในพรรครีพับลิกัน ยังคงดึงดันขัดขวางการเดินหน้าแผนปฏิรูประบบประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์” ที่มีประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพรรคเดโมแครตเป็นตัวตั้งตัวตี

โดยพวกหัวอนุรักษ์สุดโต่งนี้แสดงจุดยืนขัดขวางแผนงบประมาณฉบับใหม่อย่างหัวชนฝา หากโอบามาไม่ยอมพับโครงการด้านสังคมดังกล่าวของตน

แม้ในที่สุดหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สามารถกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้งภายใต้ “ร่างงบประมาณฉบับชั่วคราว” ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคมปีหน้า และกำหนดให้ขยายขอบเขตการกู้ยืมหรือ “เพดานหนี้” ของรัฐบาลวอชิงตันได้ชั่วคราว จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ปีหน้า




กำลังโหลดความคิดเห็น