รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - พายุเฮอริเคน “เรย์มอนด์” ซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของเม็กซิโกแล้วในวันจันทร์ (21) เป็นเหตุให้ทางการแดนจังโก้ ต้องสั่งปิดท่าเรือและโรงเรียน ตลอดจนต้องมีการอพยพประชาชนตลอดแนวชายฝั่ง ขณะที่อิทธิพลของมันยังทำให้เกิดฝนตกหนักที่เมืองตากอากาศ “อกาปุลโก” และพื้นที่โดยรอบซึ่งยังคงไม่ฟื้นตัวจากเหตุฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน
รายงานข่าวระบุว่า พายุเรย์มอนด์ซึ่งพัฒนาจากพายุโซนร้อนไปเป็นเฮอริเคนระดับ 3 ภายในระยะเวลาเพียง 48 ชั่วโมงกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของเม็กซิโกด้วยความเร็วลมที่ศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 145 กิโลเมตร (ราว 90 ไมล์) ต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ดี ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (NHC) ในเมืองไมอามี มลรัฐฟลอริดา ประกาศเตือนว่า พายุเรย์มอนด์จะมีกำลังแรงขึ้นจนมีความเร็วลมที่ศูนย์กลางถึง 193 กิโลเมตร (ราว 120 ไมล์) ต่อชั่วโมงในไม่ช้า โดยคาดว่า เฮอริเคนลูกนี้จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งเม็กซิโกในคืนวันจันทร์ (21) หรือวันอังคาร (22) ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกในวันพุธ (23)
อิทธิพลของเฮอร์ริเคนเรย์มอนด์ได้ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของเม็กซิโกแล้วในขณะนี้ รวมถึงที่เมืองตากอากาศชื่อดังอย่างอกาปุลโกที่เพิ่งถูกถล่มจากพายุโซนร้อน “มานูเอล” และเฮอร์ริเคน “อิงกริด” ไปเมื่อเดือนที่แล้ว และคาดว่า อิทธิพลของพายุเรย์มอนด์อาจทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของเม็กซิโกแบบต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง
ล่าสุด ทางการเม็กซิโกต้องสั่งปิดท่าเรือหลายแห่ง รวมถึงโรงเรียนที่เมืองอกาปุลโก ในรัฐเกร์เรโร รวมถึงที่เมืองลาซาโร การ์เดนัสในรัฐมิโชอากัน ตลอดจนต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงมากกว่า 800 คน
ด้าน อังเฆล อากิร์เร ผู้ว่าราชการของรัฐเกร์เรโรออกโรงวิงวอนให้ประชาชนยอมอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยไม่รั้งรอ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมิโชอากันที่อยู่ใกล้เคียงประกาศห้ามการทำกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นการทำประมง หรือการเล่นกีฬาทางน้ำด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ตลอดจนเตือนให้มีการหลีกเลี่ยงการใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ติดชายฝั่ง
ทั้งนี้ เม็กซิโกเพิ่งเผชิญเหตุน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อกลางเดือนที่แล้วหลังถูกถล่มจากพายุพร้อมกันถึง 2 ลูกทั้งเฮอริเคนอิงกริด และพายุโซนร้อนมานูเอล เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วม-ดินถล่มในหลายพื้นที่ คร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 150 คน และประสบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 186,825 ล้านบาท) ขณะที่ประชาชนผู้ประสบภัยอีกกว่า 5,700 คนยังคงต้องพักอาศัยในค่ายพักชั่วคราวจนถึงตอนนี้