xs
xsm
sm
md
lg

‘เจพีมอร์แกน’ ควักกว่า 4 แสนล้านบาท ‘จ่ายค่าปรับ’ รบ.US คดียุค ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - เจพี มอร์แกน วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะยอมจ่ายค่าปรับ 13,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 406,250 ล้านบาท) ให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพื่อยุติคดีการขายหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อบ้านความเสี่ยงสูง ซึ่งถูกระบุว่า เป็นต้นเหตุทำให้ระบบการธนาคารเกือบล่มเมื่อปี 2007 และนำไปสู่วิกฤตการเงินโลก ซึ่งเรียกขานกันว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ในปีถัดมา

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่วงในว่า ข้อตกลงเบื้องต้นในการจ่ายค่ายอมความ 13,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เกิดขึ้นระหว่างการหารือเมื่อคืนวันศุกร์ (18) ระหว่างทีมนักกฎหมายของเจพี มอร์แกน กับอิริก โฮลเดอร์ รัฐมนตรียุติธรรม และโทนี เวสต์ รัฐมนตรีช่วยยุติธรรม

ด้านหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานเพียงว่า วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯแห่งนี้ใกล้บรรลุข้อตกลงดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดขั้นสุดท้าย ขณะที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเองยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากรายงานข่าวนี้เป็นความจริง จะถือเป็นข้อตกลงยอมความมูลค่าสูงสุดเท่าที่บริษัทอเมริกันเคยจ่ายมา

รายงานระบุว่า เงินจำนวน 13,000 ล้านดอลลาร์นี้ แบ่งเป็นค่าปรับ 9,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 4,000 ล้านดอลลาร์เป็นค่าชดเชยสำหรับเจ้าของบ้านที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังคาดหวังให้เจพี มอร์แกนให้ความร่วมมือในการสอบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อบ้านระหว่างปี 2005-2007 อีกด้วย

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตภาคการเงินในปี 2008 วาณิชธนกิจหลายแห่งได้ออกผลิตภัณฑ์การเงินที่มีความซับซ้อนมาก โดยที่เรียกว่า หลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อบ้าน

บีบีซีนิวส์แจกแจงว่า ในทางเป็นจริงแล้ว ตราสารหนี้เหล่านี้ประกอบด้วยเครื่องมือการลงทุนหลายประเภทผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน โดยเครื่องมือสำคัญที่สุดคือสินเชื่อบ้านซึ่งถูกโฆษณาว่าปลอดความเสี่ยง

ทว่า เจพี มอร์แกนถูกกล่าวหาว่า ขายหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อบ้านค้ำประกันดังกล่าว ทั้งที่รู้ว่า สินเชื่อเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงมาก และในที่สุดแล้วพวกหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อบ้านค้ำประกันเหล่านี้เอง ถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งที่ทำให้ระบบการธนาคารของสหรัฐฯเกือบล่มในปี 2007 เมื่อธนาคารต่างๆ ตระหนักว่า สินทรัพย์จำนวนมากที่ครอบครองอยู่มีมูลค่าเพียงแค่เศษเสี้ยวของมูลค่าตามบัญชีอย่างเป็นทางการ และพวกเขาขาดทุนกันเป็นเรือนหมื่นล้านแสนล้านดอลลาร์

บีบีซีนิวส์ชี้ว่า ค่ายอมความครั้งนี้ครอบคลุมเฉพาะคดีแพ่งทั้งหมดที่อาจมีการฟ้องร้องเจพี มอร์แกนในอนาคตเท่านั้น ไม่รวมคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของแบงก์แห่งนี้แต่อย่างใด

เดิมนั้นเจพี มอร์แกนตั้งใจว่า จะโน้มน้าวให้กระทรวงยุติธรรมยอมยกเลิกการสอบสวนคดีอาญา แต่กระทรวงยุติธรรมไม่เล่นด้วย

ก่อนหน้านี้แบงก์ใหญ่มากมาย รวมถึงเจพี มอร์แกน, โกลด์แมน แซกส์ และซิตี้กรุ๊ป ล้วนถูกกล่าวหาว่ามีความผิดจากการขายหลักทรัพย์ที่เกี่ยวโยงกับสินเชื่อบ้านความเสี่ยงสูงอันนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกปี 2008 และมีการจ่ายค่าปรับในคดีแพ่งที่มีคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) เป็นโจทก์ฟ้องร้อง รวมหลายร้อยล้านดอลลาร์

สำหรับเจพี มอร์แกนที่เคยเป็น “คนโปรด” ของวอชิงตันและวอลล์สตรีทนั้นเพิ่งถูกปรับเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนที่แล้ว จากกรณีอื้อฉาว “ลอนดอน เวล” ที่อดีตพนักงานที่ชื่อ บรูโน อิกซิล วางเดิมพันสูงกับตลาดการเงินและทำให้เกิดความเสียหายมโหฬาร

แม้อยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตการเงินเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ขณะนี้เจพี มอร์แกนกำลังตกเป็นเป้าหมายการตรวจสอบกว่า 10 คดีทั่วโลก ตั้งแต่การติดสินบนในจีนจนถึงความเป็นไปได้ในการมีบทบาทในการปั่นอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ของตลาดลอนดอน

สองสัปดาห์ก่อน วาณิชธนกิจแห่งนี้ยังรายงานว่า ขาดทุนในไตรมาสที่ผ่านมา 380 ล้านดอลลาร์ จากที่มีกำไร 5,700 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สาเหตุหลักคือค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายรวม 9,200 ล้านดอลลาร์

เจพี มอร์แกนระบุว่า ได้เตรียมเงินไว้ 23,000 ล้านดอลลาร์เป็นค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น