xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แคนาดา “ลั่น” จะไม่ร่วมประชุมเครือจักรภพที่ศรีลังกา ปท.ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) นายกรัฐมนตรีสตีเฟน ฮาร์เปอร์ ของแคนาดา
รอยเตอร์ – นายกรัฐมนตรี สตีเฟน ฮาร์เปอร์ ของแคนาดาแถลงเมื่อวานนี้ (7 ต.ค.) ว่าเขาจะไม่เข้าร่วมประชุมซัมมิตเครือจักรภพอังกฤษ ที่ศรีลังกาในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากชาติเจ้าภาพมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“เรายังคงรู้สึกไม่สบายใจกับรายงานที่เผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องว่า มีการข่มขู่ และการกักขังบรรดาผู้นำทางการเมือง ตลอดจนนักข่าว การคุกคามชนกลุ่มน้อย การหายสาบสูญตามที่ได้รับรายงาน และข้อกล่าวหาที่ว่ามีการฆ่าคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม” เขาระบุในคำแถลง

ทางด้านข้าหลวงใหญ่ (เอกอัครราชทูต) ศรีลังกาประจำแคนาดาได้ออกมาโต้แย้งคำกล่าวของฮาร์เปอร์ ถึงแม้ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติกล่าวเมื่อเดือนกันยายนว่า มีความเป็นไปได้ว่าศรีลังกากำลังจะถลำลงสู่ระบอบเผด็จการ เนื่องจากประธานาธิบดีมหินทา ราชปักษา ได้รวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ตัวเขา

ในบรรดาประเทศในเครือจักรภพ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างอังกฤษกับเหล่าชาติอาณานิคมเก่า ฮาร์เปอร์เป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่ประกาศจะคว่ำบาตรการประชุมซัมมิตในเดือนพฤศจิกายนนี้ ถึงแม้อังกฤษก็กล่าววิจารณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในศรีลังกาด้วยเช่นกัน

ฮาร์เปอร์ชี้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ที่ศรีลังกายังไม่ดำเนินการสืบสวนตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่า กองทัพศรีลังกาก่ออาชญากรรมอันโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ ในช่วง 37 ปีของการกวาดล้างกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2009 ตลอดจนช่วงเวลาต่อจากนั้น โดยศรีลังกาได้เพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาที่ว่ากองทหารของตนก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ มานานแล้ว

“เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า รัฐบาลศรีลังกาไม่ได้ยึดถือปฏิบัติตามค่านิยมหลักของเครือจักรภพ ซึ่งเป็นสิ่งที่แคนาดายึดมั่นมาโดยตลอด...ดังนั้นผมจะไม่เข้าร่วมการประชุมผู้นำรัฐบาลของชาติสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษที่กรุงโคลัมโบ” เขาระบุ

ขณะที่ จิตรังกาณี วกิศวารา ข้าหลวงใหญ่ศรีลังกาประจำแคนาดาได้ออกมากล่าวแย้งความคิดที่ว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในศรีลังกากำลังตกอยู่ในสภาพเลวร้าย

“เราไม่ยอมรับคำกล่าวเช่นนั้น” เธอให้สัมภาษณ์นักข่าวรอยเตอร์ผ่านทางโทรศัพท์ โดยกล่าวเสริมว่า ฮาร์เปอร์เองที่เป็นผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2011 ศรีลังกาได้สร้างความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชน

“เราทราบว่าอาจจะยังมีหลายๆ ด้านที่ (ยัง) ต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง แต่ในเวลาเดียวกัน ในช่วงเวลาสั้นๆ 4 ปีที่ผ่านมาเราก็พัฒนาขึ้น โดยประชาคมนานาชาติส่วนใหญ่ต่างก็ให้การยอมรับ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ แคนาดาจะส่ง ดีภัก โอไภร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา ไปร่วมประชุมที่กรุงโคลัมโบในฐานะผู้แทนของแคนาดา ส่วนวกิศวารากล่าวว่า การที่ผู้นำของประเทศสมาชิกจะไม่สามารถมาร่วมประชุมซัมมิตเครือจักรภพได้พร้อมหน้านั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกครั้งอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น