xs
xsm
sm
md
lg

“บัน คี มุน” เสนอส่งผู้เชี่ยวชาญ 100 คนดูแลปฏิบัติการทำลาย “อาวุธเคมีซีเรีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัน คี มุน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (แฟ้มภาพ)
รอยเตอร์ – บัน คี มุน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ เสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเมื่อวานนี้(7)ว่า ปฏิบัติการทำลายคลังอาวุธเคมีของซีเรียจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติถึง 100 คน และคงต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติสมาชิกยูเอ็นด้วย

เมื่อวันอาทิตย์(6)ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (OPCW) และทีมสนับสนุนจากยูเอ็น ได้กำกับให้ทหารซีเรียใช้เครื่องพ่นไฟและเครื่องเจียรไฟฟ้าทำลายหัวรบและระเบิดให้ใช้การไม่ได้อีก โดยภารกิจทำลายคลังอาวุธน่าจะเสร็จสิ้นลงราวๆ กลางปี 2014

เนื้อความในจดหมายที่ บัน ยื่นต่อสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นทั้ง 15 ชาติ ระบุว่า การทำลายคลังอาวุธซีเรียจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นแรกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ส่วนขั้นที่ 2 จะเป็นการทำลายอาวุธเคมีและอุปกรณ์ผสมสารเคมี และขั้นสุดท้ายคือการปิดโครงการอาวุธเคมีของซีเรียโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์และติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด

“ขั้นที่ 3 จะเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและท้าทายที่สุด” จดหมายจากเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ระบุ

“ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2013 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2014 คณะทำงานร่วมจะต้องให้การสนับสนุน, ตรวจสอบ และพิสูจน์การทำลายโครงการอาวุธเคมีของซีเรีย ซึ่งประกอบไปด้วยโรงงานหลายแห่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังมีอาวุธเคมี, สารเร่งปฏิกิริยาเคมี และสารตั้งต้นอีกราวๆ 1,000 ตัน”

“คณะทำงานร่วมจะประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญที่ส่งเข้าไปล่วงหน้า และจะขอเจ้าหน้าที่จาก OPCW และสหประชาชาติเข้าไปช่วยเพิ่มเติมอีกราวๆ 100 คน”

ปฏิบัติการของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้นับว่ามีความสุ่มเสี่ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ OPCW และยูเอ็นจะต้องเดินทางผ่านพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบ หรือดินแดนที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายของคณะทำงาน

บัน ยังเตรียมแต่งตั้ง “ผู้ประสานงานพิเศษ” เพื่อดูแลภารกิจของคณะทำงานร่วม ตลอดจนประสานงานกับองค์การสหประชาชาติ, สำนักงาน OPCW ณ กรุงเฮก และรัฐบาลซีเรีย

ภารกิจทำลายอาวุธเคมีซีเรียจะเกิดขึ้นนอกเกาะไซปรัสและกรุงดามัสกัส โดยใช้บุคลากรเท่าที่จำเป็นในแต่ละครั้ง องค์การ OPCW จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง ขณะที่ยูเอ็นก็จะจัดสรรงบประมาณมาช่วยอุดหนุนด้วย

ทั้ง 2 องค์กรยังมีแผนตั้งกองทุนเสริม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าปฏิบัติการทำลายอาวุธเคมีซีเรียจะมีงบสนับสนุนอย่างเหลือเฟือ

แม้รัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย จะช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยในขั้นแรก แต่สำหรับขั้นที่ 2 และ 3 บัน ชี้ว่า “มีแนวโน้มสูงที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกยูเอ็น ทั้งเรื่องคำปรึกษาด้านเทคนิค, การสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ และด้านความปลอดภัย”

รัสเซียซึ่งเป็นมิตรประเทศและผู้จัดส่งอาวุธรายใหญ่ให้กับซีเรีย เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือในการทำลายคลังอาวุธเคมีของดามัสกัสอย่างเต็มที่

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นจะมีการพิจารณาข้อเสนอแนะของเลขาธิการ บัน คี มุน ภายในสัปดาห์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น