xs
xsm
sm
md
lg

สิงห์อมควันมะกัน-ยุโรปแห่สนใจ “บุหรี่ไฟฟ้า” แม้ยังถกกันไม่จบมี “ประโยชน์” หรือ “โทษ” กันแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นสิ่งเย้ายวนใจในยุโรปและอเมริกา ดึงดูดให้ผู้คนเป็นล้านๆ พากันตีตัวออกห่างจากบุหรี่ธรรมดาที่อัดแน่นไปด้วยสารทาร์ แล้วหันมาสนใจทางเลือกใหม่ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี และมีการอวดอ้างสรรพคุณว่าทั้งน่ารื่นรมย์และไร้พิษภัย

แต่ในขณะที่สิงห์อมควันจำนวนมากได้ผละจากบุหรี่มาสูบเจ้าอุปกรณ์พลาสติกชนิดนี้ เพื่ออัดไอน้ำที่มีส่วนผสมของนิโคตินเข้าปอดแทนควันบุหรี่ ทางการยุโรปและสหรัฐฯ ก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ในการควบคุมตรวจสอบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากพวกผู้กำหนดนโยบายต่างเป็นกังวลกันว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้กำลังฉวยประโยชน์จากความคลุมเครือของกฎหมาย

บุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบมาให้มีรูปลักษณ์เหมือนกับบุหรี่ทั่วไป ตลอดจนให้ความรู้สึก และรสชาติที่เหมือนของแท้ แต่แตกต่างตรงที่ว่ามันไม่มีทาร์ ควัน และสารพิษส่วนใหญ่ที่อยู่ในบุหรี่

อุปกรณ์ชนิดนี้บรรจุของเหลวไว้ภายในซึ่งจะร้อนขึ้น และเปลี่ยนสภาพเป็นไอน้ำเพื่อให้ผู้สูบสูดเขาไป โดยทั่วไปแล้วของเหลวนี้จะประกอบด้วยสารโพรพีลีนไกลคอล นิโคติน และรสชาติที่เติมแต่งเข้าไป นอกจากนี้ยังมีรุ่นปราศจากสารนิโคตินอีกด้วย

บุหรี่ไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นมาครั้งแรกในจีนเมื่อปี 2003 ในฐานะทางเลือกหนึ่งแทนที่บุหรี่ ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลกไปเกือบ 6 ล้านคนต่อปี อีกทั้งทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณหลายหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับค่ารักษาพยาบาล และต้นทุนด้านผลิตภาพ

บรรดาผู้สูบบุหรี่ นักรณรงค์ต่อต้านยาสูบ ที่ปรึกษาด้านนโยบายบุหรี่ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคนพากันยกย่องเจ้าอุปกรณ์นี้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการเลิกบุหรี่ ซึ่งภัยร้ายของมันเป็นที่รับรู้มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950

อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยหรือไม่ นั้นยังคงเป็นคำถามมีคำตอบไม่ชัดเจน

การสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือถ้าเรียกกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็น่าจะเรียกว่า “การสูดไอ” บุหรี่ไฟฟ้า (Vaping) เป็นเรื่องต้องห้ามในประเทศต่างๆ ราวสิบประเทศ โดยเฉพาะชาติละตินอเมริกา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ “แนะนำอย่างจริงจัง” ให้หลีกเลี่ยง

“ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่ามันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ใช้มากน้อยขนาดไหน” องค์การด้านสุขภาพของยูเอ็นแห่งนี้ระบุในส่วนแนวทางปฏิบัติต่อบุหรี่ไฟฟ้า ในเว็บไซต์ของตน โดยเสริมว่า “ยังไม่มีการสาธิตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ว่าอุปกรณ์ชนิดนี้มีความปลอดภัย

ทางด้านพวกสมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวนไม่น้อยต้องการจัดประเภทบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นเวชภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถวางจำหน่ายได้ในขายยาเท่านั้น เหมือนกับแผ่นนิโคติน หมากฝรั่งเลิกบุหรี่ และเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ชนิดอื่นๆ

สำหรับตอนนี้ บุหรี่ไฟฟ้าสามารถจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ตหรือวางขายเฉพาะที่ร้านขายผลิตภัณฑ์นี้เท่านั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายซึ่งแตกต่างกันไปของแต่ละชาติ โดยบางประเทศนั้นยังอนุญาตให้วางขายในร้านขายยาสูบ และร้านขายยาด้วย

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านการออกกฎควบคุมกล่าวว่า การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวชภัณฑ์จะเป็นการจำกัดการเข้าถึงของผู้บริโภค และผลักให้ราคาสูงขึ้น ตลอดจนบีบให้บรรดาผู้ติดนิโคตินหลายล้านคนต้องกลับไปสูบบุหรี่ทั่วไปเหมือนเดิม

ส่วนที่สหรัฐฯ องค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมสินค้าจากใบยาสูบต่างๆ ก็มีกำหนดจะประกาศข้อเสนอเกี่ยวกับการควบคุมการขายบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนตุลาคมนี้

“ผมแน่ใจว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถช่วยชีวิตของผู้สูบบุหรี่ที่หันมาใช้มัน รวมทั้งบรรดาผู้คนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่” โจเอล นิทซ์คิน แพทย์ชาวอเมริกันและที่ปรึกษาด้านนโยบายยาสูบกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

“บุหรี่ไฟฟ้าควรจะได้รับการพิจารณาให้เป็นทางเลือก “เพื่อผ่อนคลาย” สำหรับคนที่ถูกแรงกระตุ้นให้สูบบุหรี่ แต่ไม่อยากให้ตนเองและคนรอบข้างต้องเสี่ยงกับสารเคมีให้โทษที่มีมากมายในบุหรี่”

เจอร์รี สติมสัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลและคลีฟเบทส์ ในกรุงลอนดอน ผู้ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (Action on Smoking and Health) ที่มีฐานอยู่ในสหราชอาณาจักร ได้บรรยายถึงบุหรี่ไฟฟ้าในงานวิจัยเมื่อเดือนกันยายนว่าเป็น “ทางเลือกในการสูบบุหรี่ที่ให้โทษน้อยมาก ซึ่งบรรดานักสูบใช้เป็นหนทางสร้างความเพลิดเพลิน ในการเสพนิโคตินอย่างปลอดภัยและผ่อนคลาย”

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอื่นๆ แสดงความเป็นห่วงว่า ผู้ที่แต่เดิมสูบบุหรี่อาจกลับกลายเป็นคนเสพติดนิโคตินไป เพราะทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือไม่ก็ทำให้คนที่เสพติดนิโคตินอยู่แล้ว กลับติดนิโคตินต่อไปอีกแทนที่จะสามารถเลิกได้

ทั้งนี้ สารนิโคติน สามารถเป็นพิษภัยต่อเด็กๆ สตรีมีครรภ์ และผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจ

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ออกรายงานในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่า “เป็นเรื่องน่าวิตกห่วงใยอย่างยิ่ง” ที่วัยรุ่นชาวอเมริกันกำลังหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านยุติธรรมของมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ถึง 40 มลรัฐ ได้ออกมาเรียกร้องให้เอฟดีเอแสดงความเข้มงวดในการควบคุมผลิตภัณฑ์ประเภทนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น