เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – ประธานาธิบดี ฮัสซัน ชีคห์ โมฮามุด ผู้นำโซมาเลีย ออกโรงยืนยันในวันอาทิตย์ (22) โดยระบุ ไม่ได้สั่งปลดอับดิซาลัม โอเมอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศ แต่เจ้าตัวขอลาออกเองเพื่อปกป้องความน่าเชื่อถือขององค์กร หลังตกเป็นข่าวว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกเงินแผ่นดินตามข้อมูลของคณะผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
ผู้นำโซมาเลียยืนยันว่า โอเมอร์เป็นบุคคลที่ใจซื่อมือสะอาด และรายงานข่าวที่ถูกเผยแพร่โดยสื่อต่างประเทศหลายสำนักที่ระบุว่า ตัวเขาตัดสินใจสั่งปลดโอเมอร์ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางโซมาเลียนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่า โอเมอร์เป็นฝ่ายขอลาออกด้วยตัวเองเพื่อปกป้องความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางเอาไว้
ประธานาธิบดีโมฮามุด วัย 57 ปี ที่ก้าวขึ้นครองอำนาจเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วยังระบุว่า เขาอาจแต่งตั้งให้โอเมอร์เข้ารับตำแหน่งอื่นๆ ในคณะรัฐมนตรีโซมาเลียในเร็วๆ นี้ เพื่อให้บุคลากรที่มีความสามารถอย่างอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติรายนี้ได้ทำงานรับใช้ชาวโซมาเลียต่อไป
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลโซมาเลียสั่งปลด อับดิซาลัม โอเมอร์ วัย 59 ปี ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมแต่งตั้ง นางยุสซูร์ อบราร์ เข้ารับตำแหน่งแทนในฐานะผู้ว่าการแบงก์ชาติหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของโซมาเลีย
โดยรายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า คำสั่งปลดโอเมอร์มีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน ชีคห์ โมฮามุด ผู้นำโซมาเลียได้รับทราบรายงานจากคณะผู้ตรวจสอบทางการเงินขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มีข้อสรุปชัดเจนว่า โอเมอร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายไปของเงินแผ่นดินจำนวนหลายล้านดอลลาร์จาก บัญชีกลางของแบงก์ชาติโซมาเลีย แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เงินดังกล่าวอยู่ในมือของใครบ้างในเวลานี้
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวซึ่งไม่มีการยืนยันว่าอับดิซาลัม โอเมอร์ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 13 กันยายนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปลด
อย่างไรก็ดี โอเมอร์ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และเคยทำงานกับธนาคารโลกมาก่อน ยังคงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง โดยกล่าวที่กรุงไนโรบีของเคนยาว่าเขาถูกใส่ร้าย จากกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ไม่ต้องการให้เขาเดินหน้าแผนปฏิรูปภายในธนาคารกลางโซมาเลีย
ขณะเดียวกัน โอเมอร์ซึ่งกลายเป็นอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติโซมาเลียไปแล้วยืนยันจะเดินทางกลับ ประเทศในสัปดาห์หน้า เพื่อส่งมอบงานให้กับผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งคนต่อไป
ทั้งนี้ โซมาเลียซึ่งตกอยู่ในสภาพ “ดินแดนแห่งไฟสงคราม” มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ กำลังพยายามอย่างหนักในการเดินหน้าฟื้นฟูสถาบันต่างๆ ภายในประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางแห่งโซมาเลียซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบดูแล “เงินบริจาค” และเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากนานาชาติ
แต่ที่ผ่านมามักมีรายงานว่า บรรดานักการเมืองและข้าราชการระดับสูงของโซมาเลียมักใช้อิทธิพลของตน เบียดบังนำเงินบริจาคของนานาชาติไปใช้เป็นการส่วนตัว โดยมี “คนใน” ธนาคารกลางรู้เห็นเป็นใจด้วย