เอพี/เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียระบุเมื่อวันพฤหัสบดี(12) ว่ารัฐบาลของเขาตอบตกลงที่จะยอมส่งมอบอาวุธเคมีแก่นานาชาติก็เพื่อตอบสนองต่อแนวคิดริเริ่มของรัสเซีย ไม่ใช่เพราะเกรงต่อคำขู่ของสหรัฐฯ ท่าทีที่ยังแข็งกร้าวของผู้นำรายนี้มีขึ้นขณะที่มอสโกและวอชิงตัน เริ่มต้นเจรจาสำคัญต่อแผนปลดอาวุธดามัสกัสเพื่อหลีกเลี่ยงปฏิบัติการทางทหารของอเมริกา ด้วยทาง โอบามา หวังว่าการหารือครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปเป็นร่าง
นายอัสซาดให้สัมภาษณ์กับรอสซิยา24 สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของรัสเซีย ยืนยันว่าซีเรียจะยอมวางอาวุธเคมีให้อยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติตามกรอบข้อเสนอของมอสโก "ที่ซีเรีย ยอมส่งมอบอาวุธเคมีให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาติก็เพราะรัสเซีย คำขู่ของสหรัฐฯไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเรา" เขากล่าวพร้อมระบุว่า ซีเรีย มีแผนยื่นเอกสารต่อสหประชาชาติเพื่อลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับอาวุธเคมีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อย่างไรก็ตามจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงทางสหประชาชาติ ก็ออกมายืนยันว่าได้รับเอกสารขเข้าร่วมสนธิสัญญาสากลห้ามใช้อาวุธเคมีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ความเคลื่อนไหวของนายอัสซาด มีขึ้นขณะที่สหรัฐฯและรัสเซีย เริ่มต้นหารือกันที่เจนีวา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับข้อเสนอที่ให้ซีเรียเปิดประตูต้อนรับคณะผู้ตรวจสอบและกำจัดอาวุธเคมีของพวกเขา โดยนายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกา พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ หารือกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศมอสโกและคณะ เพื่อพิจารณาข้อเสนอจากแดนหมีขาว ซึ่งส่งผลให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจถอนคำขู่ใช้กำลังทหารโจมตีรัฐบาลของนายอัสซาด
ในเรื่องนี้นายโอบามา ออกมาแสดงความหวังในวันพฤหัสบดี(12) ว่าการเจรจาของคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายจะนำมาซึ่งแผนที่ใช้การได้ต่อการปลดอาวุธเคมีของซีเรีย "ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการหารือระหว่างท่านรัฐมนตรีต่างประเทศเคร์รีกับลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ จะสามารถก่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปเป็นร่าง"
วอชิงตัน ต้องการเห็นว่าอัสซาดมีความจริงจังที่จะส่งมอบคลังอาวุธเคมีให้อยู่ในการควบคุมของนานาชาติมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลของเขาใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าประชาชาติรอบนอกกรุงดามัสกัสเมื่อเดือนที่แล้ว โดยก่อนหน้าการเจรจาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯเรียกร้องซีเรียให้เปิดเผยคลังอาวุธเคมีที่มีอยู่ทั้งหมดโดยด่วน
ส่วนนายลาฟรอฟ ก็มองในแง่ดีก่อนหน้าการเจรจา โดยบอกระหว่างเยือนคาซัคสถานว่า "ผมมั่นใจว่ามันมีโอกาสสำหรับสันติภาพในซีเรีย เราไม่สามารถปล่อยให้มันหลุดมือไป" พร้อมกันนั้นเขายังบอกับสื่อมวลชนรัสเซียต่อว่าเขาเตรียมขอให้ซีเรียยึดมั่นต่ออนุสัญญาห้ามให้อาวุธเคมีด้วย
สหรัฐฯและฝรั่งเศส ชาติผู้สนับสนุนหลักในการใช้กำลังทหารต่อซีเรีย เตือนว่าจะไม่ยอมให้แผนปลดอาวุธนี้กลายเป็นยุทธศาสตร์ถ่วงเวลา และยืนกรานว่าคำขู่โจมตีต่อกองกำลังนายอัสซาด ยังวางอยู่บนโต๊ะ
หนังสือพิมพ์คอมเมียร์ซันต์ ของรัสเซียรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวทางการทูตของรัสเซีย ถึงรายละเอียดแผนการปลดอาวุธเคมีซีเรียที่จะเสนอต่อวอชิงตันเป็นครั้งแรก ว่าจะประกอบด้วย 4 ขั้นตอนได้แก่การที่ซีเรียเข้าร่วมองค์การห้ามอาวุธเคมี (โอพีซีดับเบิลยู) แล้วเปิดเผยที่ตั้งคลังอาวุธเคมี ตามมาด้วยการยินยอมให้เจ้าหน้าที่โอพีซีดับเบิลยูเข้าตรวจสอบ และสุดท้ายคือดำเนินการทำลายหัวรบอาวุธเคมี
อย่างไรก็ดี ทางด้านกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียยังคงออกมาโจมตีว่า แผนการดังกล่าวของวังเครมลินเป็นเพียงการซื้อเวลา และจะทำให้มีคนตายมากขึ้นจากสงครามความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 ซึ่งจนถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 110,000 คน
ก่อนการเจรจา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ยังทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือเขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ เตือนว่าปฏิบัติการทางทหารฝ่ายเดียวของอเมริกาตามที่โอบามาแถลงต่อประชาชนเมื่อคืนวันอังคาร (10) โดยอ้างว่า อเมริกามีบทบาทพิเศษนั้น มีแต่จะทำให้ความรุนแรงลุกลามออกนอกพรมแดนซีเรีย และปลุกกระแสลัทธิก่อการร้ายระลอกใหม่ในตะวันออกกลาง รวมทั้งอาจทำให้ระบบกฎหมายระหว่างประเทศและระเบียบโลกทั้งหมดเสียศูนย์
นายปูตินก็แสดงความยินดีที่วอชิงตันตกลงที่จะพิจารณาข้อเสนอของมอสโก แต่ไม่วายเตือนว่า การโจมตีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่รัสเซียมีอำนาจยับยั้ง จะทำลายความน่าเชื่อถือของยูเอ็น
ทั้งนี้ ตัวแทนจาก 5 ชาติสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และอเมริกา ก็ได้เปิดการหารือกันเมื่อวันพุธ ทว่าไม่ได้ข้อสรุปใดๆ โดย มอสโก พันธมิตรผู้ใกล้ชิดของซีเรีย รวมไปถึง จีน มักขัดขวางความพยายามใดๆในการลงโทษรัฐบาลของนายอัสซาดผ่านสหประชาชาติ
สำหรับการหารือที่เจนีวานั้นคาดว่า จะใช้เวลา 2-3 วัน โดยมุ่งเน้นที่การผลักดันการประชุมสันติภาพเพื่อยุติสงครามกลางเมืองในซีเรีย ทั้งนี้นอกเหนือจากลาฟรอฟแล้ว เคร์รียังจะได้พบกับ ลัคดาร์ บราฮิมี ผู้แทนของสันนิบาตอาหรับและของยูเอ็นในเรื่องซีเรียอีกด้วย
ฝ่ายตะวันตกนั้นอวดอ้างว่า ความพยายามทางการทูตที่ผุดขึ้นมาใหม่อย่างกะทันหันเช่นนี้ เป็นผลจากคำขู่ในการใช้กำลังทหาร กระนั้น ยังคงมีคำถามคาใจว่า อัสซาดจะส่งมอบอาวุธเคมีจริงหรือไม่ และการรีบร้อนจัดประชุมที่เจนีวาในขณะนี้ก็เนื่องมาจากทำเนียบขาวต้องการความชัดเจนว่า แนวทางการทูตจะสำเร็จหรือล้มเหลว เพื่อผลักดันปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรียต่อไป